บพค. เดินหน้าสู่เป้าหมายยกระดับทักษะกำลังคน ส่งเสริมงานวิจัยและการสร้างนวัตกรรม มุ่งสู่แกนนำภาคีเครือข่ายระดับนานาชาติ สอดรับกับความต้องการที่แท้จริงของประเทศ ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

0
172

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เดินหน้ารุกพัฒนากำลังคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จัดกิจกรรมเพื่อสื่อสารถึง “โครงการ Care Global Network for Better World ” การยกระดับนักวิจัยไทยเพื่อเป็นแกนนำในภาคีเครือข่ายสหสาขาระดับนานาชาติเพื่อการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดการใช้คาร์บอน พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ Energy System Lab ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของ 3 พระจอม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่มุ่งส่งเสริมนโยบายของภาครัฐต่อความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050

ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนา สถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา บพค. ได้วางแผนทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่จะพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้เพื่อต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัล พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป็นแกนหลักในการกำหนดโจทย์วิจัยและนโยบายของการสนับสนุนให้ทุนวิจัย

นอกจากนี้ บพค. ยังมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านการวิจัยและนวัตกรรมองค์ความรู้ นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ สามารถเชื่อมโยงภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด จนสามารถยกระดับไปสู่การแข่งขันของประเทศในระดับนานาชาติได้เป็นอย่างดี ประกอบกับโครงการ Care Global Network for Better World ซึ่งโครงการนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการยกระดับนักวิจัยไทยให้เป็นผู้นำในภาคีเครือข่ายนานาชาติด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดการปล่อยคาร์บอนให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยไทยและต่างประเทศ ผ่านการจัดประชุมและสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ การสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด การส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ และโครงการอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับแรงงานในอุตสาหกรรม 4.0 โครงการวิจัยและพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการเกษตรอัจฉริยะ โครงการพัฒนาวัสดุนาโนเพื่ออุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น
“บพค. ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุน (Funding Agency) เท่านั้น แต่เรายังทำงานเป็นหน่วยที่จะผลักดันและขับเคลื่อนระบบ ววน. ให้เกิดการสร้างบุคลากรหรือกำลังคนที่มีทักษะใหม่ ๆ ที่พร้อมด้วย Skill Set และเจตคติที่ดีต่อการทำงานที่เกิดความผันผวนทางเทคโนโลยีตลอดเวลา (Technology Disruption) เพื่อให้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมนำพาให้เกิดการสร้าง Ecosystem ของการพัฒนาคน พัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมให้ทันต่อยุคของดิจิทัลอย่างยั่งยืนต่อไปค่ะ” ศ.ดร.สมปองฯ กล่าว

วันนี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ ผศ. ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. คณะผู้ทรงคุณวุฒิ และเจ้าหน้าที่ บพค. ร่วมกับศ. ดร.ภูมิ คำเอม หัวหน้าโครงการ สังกัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงได้จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรขึ้นมา ภายใต้ชื่อ “โครงการ Care Global Network for Better World ” การยกระดับนักวิจัยไทยเพื่อเป็นแกนนำในภาคีเครือข่ายสหสาขาระดับนานาชาติเพื่อการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดการใช้คาร์บอน ณ ห้องประชุมภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ชั้น 3 อาคารปฏิบัติการรวมวิศวกรรมศาสตร์ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวต้อนรับ พร้อมหัวหน้าโครงการและทีมนักวิจัยให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ คณะ บพค. ได้มาร่วมรับฟังการนำเสนอภาพรวมของโครงการดังกล่าว อันเป็นโครงการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี รวมทั้งได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ Energy System Lab ภายในอาคารปฏิบัติการรวมวิศวกรรมศาสตร์ 2 รวมถึงผลงานสิ่งประดิษฐ์ภายในห้องปฏิบัติการด้าน Infrastructure ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งตอบโจทย์นโยบายการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะ/ทักษะขั้นสูงด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย “อว. For EV” ของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่ได้ประกาศวิสัยทัศน์ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา มุ่งส่งเสริมและสร้างกำลังคนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5,000 คนต่อปี

สำหรับ Energy System Lab ปัจจุบันเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากปีงบประมาณ 2566 และ 2567 โดยนักวิจัยได้ใช้ทุนสนับสนุนจาก บพค. ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ และหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ด้าน Infrastructure EV ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ในการพัฒนางานวิจัยร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยอีกด้วย

ด้าน ศ. ดร.ภูมิ คำเอม หัวหน้าโครงการวิจัย การยกระดับนักวิจัยไทยเพื่อเป็นแกนนำในภาคีเครือข่ายสหสาขาระดับนานาชาติเพื่อการออกแบบและพัฒนานาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ลดการใช้คาร์บอน ได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการฯ ว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่เกิดจากการผนึกความร่วมมือของห้องปฏิบัติการของ 3 พระจอม ได้แก่ 1. Center of Excellence in Theoretical & Computational Science: TaCS-CoE, KMUTT จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2. Renewable Energy Research Center: RERC, KMUTNB จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 3. Renewable Energy Applications Laboratory: REAL KMITL จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง


โดยห้องปฏิบัติการทั้ง 3 แห่งมีความสัมพันธ์ในการดำเนินการวิจัยร่วมกัน ดังนี้ Center of Excellence in Theoretical & Computational Science (TaCS-CoE), KMUTT จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเน้นการวิจัยทางด้าน Optimization and Algorithm สำหรับการคำนวณเชิงทฤษฎี จากการคำนวณเชิงทฤษฎีและทฤษฎีการควบคุม (Control Theory) นำมา Implementation and Simulation ด้วยโปรแกรม MathLab (Simulink) เพื่อนำไปใช้จริง ส่วนห้องปฏิบัติการ Renewable Energy Research Center (RERC) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นำมาพิสูจน์เพื่อยืนยันทฤษฎีว่านำมาใช้จริงได้ในรูปแบบของ การสร้าง Prototype แผงวงจร เช่น EV Charger, Wireless Charger Ev care model จากนั้น นำไปประยุกต์ใช้จริงเพื่อต่อยอดเชิงอุตสาหกรรมและห้องปฏิบัติการ


ด้านห้องปฏิบัติการ REAL: Renewable Energy Application Laboratory: Energy System Lab สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นห้องปฎิบัติการที่รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน มุ่งเน้นการทำวิจัยที่ตอบโจทย์ 3 เรื่อง คือ 1. EV infrastructure: Develop EV Chargers และ EV Charging Platform ให้กับ PEA ที่ใช้ในปัจจุบัน ชื่อ PEA-VOLTA ระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุ และ Traction Drive Conversion Kits for EV

“เรียกได้ว่า โครงการ CARE เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มุ่งการผนึกกำลังเอาความเข้มแข็งของทั้งบุคลากรวิจัย โครงสร้างพื้นฐาน และเครื่องมือที่มีอยู่ มาสานพลังให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญต่อระบบ ววน. ของประเทศ อันเป็นกลไกและเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน” ศ.ดร.สมปองฯ กล่าวสรุป