“ธนาคารทรัพยากรชีวภาพ” กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 20387: 2018 เตรียมต่อยอดให้บริการสกัดสารพันธุกรรม ร่วมมือพัฒนาวัคซีน และอุตสาหกรรมยา

0
125

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563-2567 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณในการดำเนินการวงเงิน 4,470 ล้านบาท โดยในแผนงานดังกล่าวมีโครงการสำคัญ อาทิ การถอดรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยชาวไทยใน 5 โรคสำคัญ ได้แก่ 1.โรคหายากหรือโรควินิจฉัยยาก 2.โรคมะเร็ง 3.โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 4.โรคติดเชื้อ และ 5.โรคทางเภสัชพันธุศาสตร์ จำนวนรวม 50,000 ราย การสร้างศูนย์ข้อมูลจีโนมแห่งชาติ และการสร้างศูนย์ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ

นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


เนื่องจากตัวอย่างสารพันธุกรรมที่จะนำไปทำการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ทั้งจีโนม จำนวน 50,000 ราย เป็นตัวอย่างที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และต้องการการบริหารจัดการที่ดี ตั้งแต่การรับตัวอย่าง การสกัดตัวอย่างที่ใช้เกณฑ์กำหนดมาตรฐานให้ตัวอย่างที่มีคุณภาพสูง สามารถนำไปทำการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมได้ คณะอนุกรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัยจีโนมิกส์ประเทศไทยและภาคีเครือข่ายการวิจัยและการบริการภายใต้แผนฯ จึงเห็นชอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ เป็นผู้รับบริหารจัดการตัวอย่างของโครงการแบบรวมศูนย์ ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการตัวอย่าง การสกัดสารพันธุกรรม และการเก็บรักษาตัวอย่างตั้งต้นและตัวอย่างสารพันธุกรรมทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยตัวอย่างสารพันธุกรรมชนิด DNA, เลือดครบส่วน (whole blood), บัฟฟี่โค้ต (Buffy coat) และพลาสมา (Plasma)


สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงจัดตั้งธนาคารทรัพยากรชีวภาพ Biobank ตามระบบมาตรฐาน ISO 20387: 2018 ซึ่งเป็นมาตรฐานการเก็บตัวอย่างทรัพยากรชีวภาพแบบมาตรฐานสากล โดยมีขอบเขตที่ได้รับการรับรอง 4 รายการ คือสารพันธุกรรมชนิด DNA, เลือดครบส่วน (Whole blood), บัฟฟี่โค้ต (Buffy coat) และพลาสมา (Plasma) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 และได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 20387:2018 วันที่ 14 สิงหาคม 2567 นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า

ในปี 2568 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะขยายขอบข่ายขอการรับรอง ISO 20387: 2018 ในธนาคารชีวภาพ นั้นเป็นคลังจัดเก็บตัวอย่างหยดเลือดแห้งบนกระดาษซับ และคลังผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง เช่น ผลิตภัณฑ์เซลล์บำบัดชนิด Dendritic cells (เซลล์เด็นไดรติค) เซลล์บำบัดชนิด Cytokine-induced killer cells (เซลล์เม็ดเลือดขาวคิลเลอร์เซลล์ที่ถูกชักนำด้วยไซโตไคน์) เซลล์ Mesenchymal stem cells (เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์) และ เซลล์ induced Pluripotent Stem Cells (เซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากการเหนี่ยวนำเซลล์ร่างกายที่เจริญเต็มที่แล้ว) สำหรับใช้ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาวิธีรักษาผู้ป่วย
สำหรับการนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในอนาคต สามารถนำทรัพยากรชีวภาพทางการแพทย์ที่มีอยู่ ไปศึกษาวิจัยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาคุณลักษณะพื้นฐานของเชื้อก่อโรค การตรวจวินิจฉัย รักษาโรค รวมทั้งการพัฒนาวัคซีนของหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเปิดให้บริการสกัดสารพันธุกรรม จัดเก็บทั้งในระยะสั้นระยะยาว รวมทั้งการร่วมมือกับภาคเอกชน ใช้ข้อมูลในการทดสอบ และพัฒนาอุตสาหกรรมยา เภสัชกรรม


“ทั้งนี้ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีระบบการรักษาความลับและการถ่ายโอนข้อมูลอย่างเข้มงวดและรัดกุม เป็นไปตามมาตรฐานสากลและยึดมั่นในจริยธรรมการวิจัย เป็นการบริหารจัดการการเก็บและเพิ่มมูลค่าตัวอย่างทางชีวภาพที่สำคัญของประเทศอย่างยั่งยืน โดยหน่วยงานสามารถสอบถามรายละเอียดความร่วมมือการใช้ธนาคารทรัพยากรชีวภาพกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ที่ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ โทรศัพท์ 0 2951 0000 ต่อ 98095, 98096” นายแพทย์ยงยศ กล่าวทิ้งท้าย