รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการอบรมบุคลากรสาธารณสุขเป็น “ทีมเชื่อมประสานใจ Care D+” ช่วยสื่อสารดูแลผู้ป่วยและญาติอย่างเข้าอกเข้าใจ เป็น “ญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร” สร้างความเข้าใจในกระบวนการรักษา จัดการภาวะวิกฤตทางการสื่อสารอย่างมืออาชีพ ล่าสุดมีบุคลากรลงทะเบียนเข้ารับการอบรมเกินเป้าหมาย 1 หมื่นคนแล้ว ประเดิมชุดแรก 1 พันคนภายใน ธ.ค.นี้ เป็นของขวัญปีใหม่คนไทย และเม.ย. 2567 ครบ 1 หมื่นคน
(เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพิธีเปิดโครงการอบรมขับเคลื่อนการสื่อสารสาธารณะและสังคม (Care D+) ประจำปีงบประมาณ 2567 พร้อมรับมอบรหัสเข้าเรียน หนังสือสำคัญและเสื้อ Care D+ เป็นสัญลักษณ์ของผู้เข้ารับการอบรม
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา บุคลากรสาธารณสุขทุกคน ทุกวิชาชีพ ต่างมีความมุ่งมั่นในการดูแลประชาชนให้พ้นจากความเจ็บป่วย แต่จากสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้า ทำให้การสื่อสารมีความรวดเร็ว ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ หลายครั้งจึงพบว่าเกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ป่วย ญาติและบุคลากรทางการแพทย์ปรากฏในสื่อออนไลน์ นโยบายยกระดับ 30 บาท ของกระทรวงสาธารณสุข จึงกำหนดประเด็นการสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ไว้ด้วย โดยมี Quick Win 100 วัน เรื่องการสร้างทีมประสานใจ หรือ Care D+ ที่จะช่วยสร้างความเข้าใจ ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ป่วย ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์ เป็น “ญาติเฉพาะกิจ มิตรภาพถาวร” ที่ช่วยสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วยที่เจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ และญาติผู้ป่วยที่ใจเจ็บจากความกลัวและวิตกกังวลกับการที่บุคคลในครอบครัวเจ็บป่วย ให้ได้รับทราบถึงขั้นตอนแนวทางการรักษาพยาบาล ลดความไม่เข้าใจระหว่างกันที่อาจจะเกิดขึ้น
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการอบรม Care D+ กระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การสื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจ (Emphatic Communication) ในภาคการดูแลสุขภาพ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยร่วมกันพัฒนาหลักสูตรมาตรฐาน Care D+ เพื่อยกระดับคุณภาพการสื่อสารในภาคการดูแลสุขภาพ อบรมบุคลากรสาธารณสุขให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการสื่อสารมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการภาวะวิกฤตทางการสื่อสาร (Crisis Communication Management) และการสื่อสารด้วยความเข้าใจ เชื่อมอารมณ์ความรู้สึกกัน (Emphatic Communication) ซึ่งจะทำให้ทีม Care D+ สามารถรับฟังผู้ป่วยและญาติอย่างเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ สามารถวิเคราะห์และประมวลได้ว่า มีอารมณ์ความรู้สึก ความประสงค์ หรือมีข้อติดขัดติดใจอย่างไร เพื่อจะได้บริหารจัดการหรือตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดความไม่เข้าใจกันหรือความขัดแย้งระหว่างกันลงได้
“การอบรมมีทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม cug.academy โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและจิตวิทยา จากบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นวิทยากร เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้ารับการอบรมถึง 10,550 คนแล้ว โดยภายในเดือนธันวาคม 2566 นี้ เราจะมีทีม Care D+ 1 พันคน เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน และจะครบ 1 หมื่นคนตามเป้าหมาย ภายในเดือนเมษายน 2567 โดยจะมีการประเมินผลการอบรมและปรับปรุงหลักสูตรการอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้สามารถสื่อสารประสานใจ สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันได้อย่างดี” นพ.ชลน่านกล่าว