แพทย์ย้ำสาร PG / VG ในบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย เสี่ยงมะเร็ง สูบบุหรี่ไฟฟ้าขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงแท้งลูก สมองทารกผิดปกติ

0
133


วันที่ 9 ก.ย. 2567 ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และกุมารแพทย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยใหม่เกี่ยวกับอันตรายของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าขณะตั้งครรภ์ที่อาจจะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ ซึ่งเป็นงานวิจัยโดยนักวิจัยประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาในหนูทดลอง โดยให้หนูทดลองสูดไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าทั้งก่อนและขณะตั้งท้อง ใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบไม่มีนิโคติน ไม่มีกลิ่น โดยมีอัตราส่วนของสาร Propylene Glycol (PG) และ Vegetable Glycerin (VG) 50:50 ให้สูด 60 คำต่อวัน ติดต่อกัน 5 วันต่อสัปดาห์ พบว่าลูกของหนูทดลองที่ได้รับไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2-3 หรือตลอดการตั้งครรภ์ มีการเจริญเติบโตของเส้นเลือดแดงในสมองส่วนกลางลดลง 23–46% ทำให้ปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง และยังพบความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของลูกหนู น้ำหนักตัวน้อย มีพฤติกรรมวิตกกังวลเพิ่มขึ้น


ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวต่อว่า งานวิจัยชิ้นนี้พิสูจน์ว่า แม้บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีนิโคติน ไม่ได้เติมแต่งกลิ่นรสชาติ แต่มีสาร PG / VG ก็เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ และส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ ซึ่งยังมีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าสาร PG / VG ซึ่งเป็นสารเคมีตัวหลักในบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าและกลุ่มสนับสนุนมักอ้างว่า เป็นสารที่องค์การอาหารและยารับรองว่าปลอดภัยสำหรับการบริโภค และมักใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร จึงอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย แต่แท้จริงแล้วสาร PG / VG หากถูกนำมาผสมในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าและใช้ในการสูดดมถือเป็นสารเคมีอันตราย นอกจากนี้บริษัทบุหรี่มักจะอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีนิโคติน ไม่เสพติด ไม่อันตราย ถือเป็นเท็จทั้งสิ้น


“หมอขอเตือนหญิงตั้งครรภ์ว่าควรจะเลิกสูบบุหรี่ทุกประเภท ความเชื่อที่ว่าเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่ธรรมดามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าระหว่างตั้งครรภ์จะปลอดภัยนั้น ถือเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์จะส่งผลเสียถึงขั้นการแท้งบุตร หรือทำให้บุตรที่เกิดมาเสี่ยงต่อความผิดปกติด้านสมอง” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าว


ด้าน รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า มีงานวิจัยใหม่ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ที่พบสาร PG / VG และนิโคติน กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และเกิดการแพร่กระจายของมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก บริษัทบุหรี่และกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า มักจะอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีการเผาไหม้ ไม่มีสารทาร์ ทำให้ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง ถือเป็นความเข้าใจผิด เพราะสารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้าอย่างนิโคติน PG / VG แม้จะยังไม่จัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง แต่สารเคมีเหล่านี้ส่งผลให้เซลล์มะเร็งขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายที่จะสู้กับเซลล์มะเร็งอ่อนแอลง ซึ่งปัจจุบันพบหลักฐานความเชื่อมโยงระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

อ้างอิง
Influence of gestational window on offspring vascular health in rodents with in utero exposure to electronic cigarettes: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/39106241/
E-cigarette exposure disrupts antitumor immunity and promotes metastasis: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/39221247/