ส.การค้ายาสูบไทย จี้ภาครัฐ พิฆาตบุหรี่ผิดกม. หลังทำอุต.วอดกว่า 3 หมื่นล้านบาท

0
109

ปัญหา “บุหรี่ผิดกฎหมาย” ที่ครอบคลุมทั้งบุหรี่ปลอม และบุหรี่เถื่อนนับวันสร้างผลกระทบกับอุตสาหกรรมยาสูบทั้งระบบแล้วในวันนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยส่วนที่ถูกสังเวยไปแล้วมีทั้งภาษีสรรพสามิต 2.4 หมื่นล้านบาท ภาษีมหาดไทย 1,800 ล้านบาท ภาษีอื่น 4,000 ล้านบาท รวมทั้งรายได้ชาวไร่ยาสูบ 300 ล้านบาท และรายได้ของผู้ประกอบการและร้านค้า 7,000 ล้านบาท
ที่สำคัญ สัญญาณวิกฤติยังจะเห็นได้จากการขาย “บุหรี่ผิดกฎหมาย” เย้ยกฎหมายบนช่องทางโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์เดิม) และสั่งซื้อผ่านข้อความส่วนตัว (Direct Message) LINE และ TikTok ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงอายุผู้เสพบุหรี่ที่ลดลงไปถึงเยาวชน และผู้หญิงเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ สัญญาณวิกฤติอีกประการ คือ ตลาดนี้เติบโตอย่างพุ่งทะยาน จับเท่าไรก็ไม่หมด ขณะที่ภาครัฐก็ดำเนินการได้ไม่ทันการณ์ ทำให้ผลกระทบในภาพรวมเกิดขึ้นในวงกว้าง
นางสาวธัญญศรัณ แสงทอง ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย เผยถึงปัญหา ความคืบหน้า และมุมมองของสมาคมต่ออุตสาหกรรมนี้ว่า ที่ผ่านมาเราได้ปฏิบัติการเชิงรุกทั้งในส่วนของการลงพื้นที่ภาคใต้อย่างภูเก็ต สตูล พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช เพราะมีชายแดนทั้งทางบก ทางทะเลติดกับประเทศเพื่อนบ้านมากถึง 60% และมีการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายมากถึง 60% ขณะเดียวกัน ก็ดำเนินการเพื่อขอความร่วมมือกับภาคการบริหารท้องถิ่นนับแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด สรรพสามิต ศุลกากร หอการค้า ตลอดจนร้านค้าบุหรี่ของสมาคมที่มีกว่า 5 แสนรายก็ช่วยแจ้งเบาะแส นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มแจ้งเบาะแสบนเว็บไซต์ของสมาคมฯ ที่เปิดให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสโดยไม่ระบุตัวตนได้ โดยสมาคมฯ จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำส่งข้อมูลแก่หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายต่อไป หรือแจ้งเบาะแสบนเว็บไซต์กรมสรรพสามิต และการยาสูบแห่งประเทศไทย ด้วยวิธีการระบุตัวตนเพื่อรับรางวัลนำจับด้วย
ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ยังรุกขอความร่วมมือกับกระทรวง และหน่วยงานระดับประเทศให้ลงมาปราบปรามปัญหานี้อย่างจริงจัง นับแต่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัล กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงยุติธรรม รวมทั้งได้ยื่นเอกสารขอความร่วมมือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี และได้รับหนังสือตอบรับมาแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็หวังว่า ปัญหานี้จะยังคงได้รับความสนใจจากท่านด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้สมาคมฯ ​จะมีปฏิบัติการเชิงรุกแบบลงลึกและครอบคลุมอย่างต่อเนื่องตลอดมา ทว่า สิ่งที่น่าแปลกใจ คือ กลับไม่มีความคืบหน้าจากภาครัฐเท่าที่ควร ทั้งที่การค้าบุหรี่ผิดกฎหมายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการทุจริตที่ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของทุกคนไปอย่างมหาศาล เพราะเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ง่ายๆ ว่า ในจำนวนผู้สูบบุหรี่ทุก 4 คนจะมีคนสูบบุหรี่ผิดกฎหมาย 1 คน และตลาดนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดดมากๆ ด้วยมีส่วนแบ่งตลาด 25% ภายใน 3 ปี เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีเพียง 11.4% เท่านั้น

ความรุนแรงของปัญหาที่ถาโถมเข้ามามีทั้งมิติของสังคม สุขอนามัย และเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 1) การขยายตัวเข้าตลาดอื่นๆ นอกจากภาคใต้ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี 2) การขยายช่องทางการขายผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม เอ็กซ์ (X หรือทวิตเตอร์เดิม), เฟซบุ๊ก, ติ๊กต็อก ที่มีการโฆษณาขายกันอย่างเปิดเผย และส่งสินค้าในรูปของพัสดุผ่านการขนส่งของเอกชน (ธุรกิจคูเรียร์) 3) กลุ่มผู้เสพบุหรี่ที่มีอายุลดน้อยลงเรื่อยๆ ลงไปถึง Gen Z จากการซื้อหาได้ง่าย สะดวกและขนส่งผ่านพัสดุ ด้วยบริการจ่ายเงินปลายทาง
สำหรับประเด็นการซื้อขายผ่านพัสดุนั้น ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา สมาคมฯ พบว่ามีการจับกุมบุหรี่ผิดกฎหมายภายในประเทศผ่านศูนย์ไปรษณีย์ขนส่งชลบุรี ตราด สระแก้ว กระบี่ สงขลา ยอดรวมกว่า 3 แสนซอง หรือกว่า 6 ล้านมวน ซึ่งมีผลกระทบต่อร้านค้าโชห่วยกว่า 5 แสนรายทั่วประเทศ ดังนั้น จึงอยากวอนขอให้ภาครัฐเร่งปราบปรามช่องทางออนไลน์ เนื่องจากการขายผ่านออนไลน์นั้นมีความเสี่ยงน้อยกว่า ผู้ขายไม่ต้องเปิดเผยตัวตนและสามารถใช้บัญชีม้าปกปิดเส้นทางการเงินได้

สมาคมฯ มีความเห็นว่า ปัญหานี้ควรแก้ไขด้วย 4 แนวทาง “ปราบปราม – ขยายผล – ประชาสัมพันธ์ – เทคโนโลยีสมัยใหม่” ประกอบด้วย ปราบปราม ร้านค้าบุหรี่ผิดกฎหมายที่มีหน้าร้าน เพื่อให้ผู้กระทำผิดตระหนักถึงโทษและป้องกันมิให้กระทำผิดอีกอย่างต่อเนื่อง และลดจำนวนผู้ค้าหน้าใหม่ที่มองเฉพาะผลกำไรจากการทำธุรกิจผิดกฎหมาย พร้อมทั้งปราบปราม/ปิดกั้นช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยการประสานความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลและเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ ขยายผล ด้วยการสืบสวนขยายผลหาผู้กระทำผิดรายใหญ่ แหล่งต้นทางของสินค้าในประเทศเพื่อนบ้านที่มีข่าวว่าเป็นเส้นทางลำเลียง อาทิ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ผ่านชายแดนทั้งทางบกและทางทะเล ฯลฯ ประชาสัมพันธ์ ผลการจับกุม การดำเนินคดี และการทำลายสินค้าของกลาง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับร้านค้าและประชาชน เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเข้ามาช่วยตรวจสอบ ป้องกัน/ปราบปราม อาทิ การจัดสรรงบสนับสนุนเครื่องเอกซเรย์ขนาดพกพา เพื่อช่วยให้การทำงานของเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สิ่งที่ สมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวมานี้ถือได้ว่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวของ “ภูเขาน้ำแข็ง” ที่มองเห็นเท่านั้น เพราะจากสถิติการจับกุมช่วงต.ค.66 – ม.ค.67 ที่มีการจับกุมบุหรี่เถื่อนกว่า 8.5 ล้านมวน มูลค่า 47.6 ล้านบาท บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาและอุปกรณ์ 6.9 หมื่นชิ้น มูลค่า 15.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.1% ของสินค้าที่ทะลักจีน ซึ่งศุลกากรจีนระบุว่ามีการส่งออกบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาและอุปกรณ์ (พิกัดศุลกากร 8543.40, 2404.12) มายังประเทศไทยช่วงม.ค. – พ.ย. 66 กว่า 1,600 ล้านบาท