สสส. แจงรายงานประจำปีต่อสภาสูง สว. ชื่นชมเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อระบบสุขภาพไทย บริหารแนวใหม่-จัดการงบมีประสิทธิภาพ-เน้นสานพลังชุมชน พร้อมฝากดูแลปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าเด็ก-เยาวชน

0
91


วันที่ 16 ธ.ค. 2567 ที่ห้องประชุมวุฒิสภา อาคารรัฐสภา ชั้น 2 ในการประชุม การประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในวาระรายงานประจำปี 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 โดยมี นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. เป็นผู้ชี้แจง กล่าวถึงผลการทำงานของ สสส. ในการสานพลังนโยบาย วิชาการ และสังคม ควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ ยาเสพติด กลุ่มโรค NCDs อุบัติเหตุจราจร เพื่อเพิ่มอายุคาดเฉลี่ยคนไทย ซึ่งในปี 2567 อยู่ในอันดับ 78 ของโลก ที่ 76.56 ปี ผู้หญิงอายุเฉลี่ย 80.98 ปี ผู้ชายอายุน้อยกว่า 9 ปี อยู่ที่ 72.34 ปี สาเหตุสำคัญจากอุบัติเหตุและ NCDs
“อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป ลดลงจาก ร้อยละ 19.90 ในปี 2556 เหลือ 17.40 ในปี 2564 สอดคล้องกับอัตราการสูญเสียปีสุขภาวะจากการตายก่อนวัยอันควรของชายไทยจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังลดลง จาก 861 คน/แสนประชากรในปี 2557 เหลือ 478 คน/แสนประชากร ในปี 2565 ขณะที่อัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มหนัก 7.64 ล้านคน

ในปี 2557 เหลือ 5.73 ล้านคน ในปี 2564 สอดคล้องกับอัตราการสูญเสียปีสุขภาวะจากการตายก่อนวัยอันควรที่มีปัจจัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น มะเร็งตับในชายไทย ลดลงจาก 1,457 คน/แสนประชากร ในปี 2557 เหลือ 1,106 คน/แสนประชากร ในปี 2562 เช่นเดียวกับอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจาก 20,790 คน/แสนประชากรในปี 2557 เหลือ 17,498 คน/แสนประชากร ในปี 2566 และการบริโภคน้ำตาลของประชากรไทย ลดลงจาก 25.9 ช้อนชา/วัน ในปี 2557 เหลือ 23.7 ช้อนชา/วันในปี 2564” ผู้จัดการ สสส. กล่าว
นายประภาส ปิ่นตบแต่ง สว. กล่าวว่า การเกิดขึ้นของ สสส. เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อระบบสุขภาพของไทย 2 ด้านหลัก 1. การทำงานเสริมระบบราชการ เกิดการบริหารแนวทางใหม่แบบองค์รวม ดูแลสุขภาวะทุกมิติ กาย จิต ปัญญา สังคม บริหารงบประมาณมีประสิทธิภาพ เกิดโครงการที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก เช่น การลดจำนวนผู้ป่วยเบาหวานให้โรคอยู่ในระยะสงบ 2. การทำงานกับชุมชน เกิดชุมชนต้นแบบหลายแห่ง ยกระดับเป็นนโยบายสาธารณะ ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม อย่างเครือข่ายงดเหล้า, การดูแลคนไร้บ้าน นวัตกรรมทางสังคมที่สนับสนุนภาคประชาสังคมร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง พร้อมขอให้ สสส. เตรียมพร้อมรับมือความท้าทายใหม่ๆ ที่สำคัญ 3 เรื่อง 1. ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพฤติกรรม เช่น บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้าถึงง่ายขึ้น 2. ขยายการทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น 3. เพิ่มการดูแลกลุ่มคนเปราะบาง
นพ.วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สว. กล่าวว่า ชื่นชม สสส. ที่มีส่วนสำคัญส่งเสริมสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ พร้อมเสนอแนะ 4 ข้อ 1. ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า กำลังทวีความรุนแรงในกลุ่มเยาวชน สั่งซื้อได้ง่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ควรเพิ่มการรณรงค์และร่วมมือกับหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลให้มากขึ้น 2.ปัญหาโรคอ้วนในเด็กและเยาวชน ซึ่งเชื่อมโยงกับสุขลักษณะและพฤติกรรมการบริโภค ควรพัฒนาโครงการที่ส่งเสริมโรงเรียนสุขภาวะและเมืองสุขภาวะให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สำรวจและควบคุมการจำหน่ายอาหารในโรงเรียน เช่น ลดการขายขนมหวานและอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ 3. การรณรงค์สุขภาพ เพิ่มการเผยแพร่ผ่านสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เพื่อเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง สื่อดิจิทัล เช่น YouTube โซเชียลมีเดีย เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ 4. เตรียมพร้อมรับมือสังคมสูงวัย ควรสนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุตามแนวคิด “แก่ช้า เจ็บสั้น ตายดี” ให้แพร่หลายในสังคม
นายวิวัฒน์ รุ้งแก้ว สว. กล่าวว่า สสส. คือผู้สานพลังสำคัญสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน สามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบที่ไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำได้ พร้อมให้ข้อเสนอแนะ 1. สร้างสรรค์สื่อในกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เสนอให้ สสส. จัดโครงการประกวดแข่งขันผลิตสื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของพฤติกรรมเสี่ยงในหมู่เยาวชน 2. แหล่งงบประมาณ ที่มาจากภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าสุราและบุหรี่ หากการดำเนินงานประสบความสำเร็จ จนการบริโภคสุราและบุหรี่ลดลง ส่งผลให้รายได้จากภาษีเหล่านี้ลดลง เชื่อว่ารัฐบาล หรือประชาชนจะเห็นคุณค่าและพร้อมสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม
นางกัลยา ใหญ่ประสาน สว. กล่าวว่า มีโอกาสทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย สสส. แก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง มีเขตติดต่อ 4 จังหวัด คือ ลำพูน ลำปาง ตาก เชียงใหม่ ซึ่งก่อให้เกิด PM 2.5 ทั่วลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน โดยใช้วิธีสร้างแกนนำธรรมชาติของชุมชนจัดการปัญหาตนเอง ใน 1 ปี สามารถรวมพลังคนในพื้นที่ ทั้งพระสงฆ์ ผู้นำ ผู้สูงอายุ เยาวชน รณรงค์ให้คนในพื้นที่ตื่นตัว ร่วมกันจัดตั้งหน่วยอาสาไฟป่า ประยุกต์การทำงานใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เช่น ตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง และอุปกรณ์ช่วยเหลืออาสาสมัครดับไฟป่า ทำให้การเผาของคนในพื้นที่ลดลง 100% ส่วนการเผาในพื้นที่รอบๆ พื้นที่ป่า เป็นการลุกลามจากภายนอก ประชาชนก็อาสาช่วยกันระงับเหตุ เหลือพื้นที่การเผาในเขตป่าประมาณ 40% จึงอยากให้ สสส. เน้นการทำงานร่วมกับชุมชนต่อไป เห็นคุณค่าของคนตัวเล็กตัวน้อย สร้างพลังจากพื้นที่ให้ลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันเอง