Weekly Commentary (28 ต.ค.-1 พ.ย. 2567)

0
110

กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 33.30-34.10 ลุ้นข้อมูลจ้างงานและโค้งสุดท้ายเลือกตั้งสหรัฐฯ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.30-34.10 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.79 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.10-33.83 บาท/ดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกันจากการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)จะลดอัตราลดดอกเบี้ยในจังหวะที่ช้ากว่าธนาคารกลางสำคัญแห่งอื่นๆ นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯประเภทอายุ 10 ปีแตะจุดสูงสุดในรอบ 3 เดือน ท่ามกลางการปรับสถานะของนักลงทุนก่อนการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯในวันที่ 5 พ.ย. โดยผู้ร่วมตลาดคาดว่ามีโอกาสมากขึ้นที่อดีตปธน.ทรัมป์จะคว้าชัยชนะ ทั้งนี้ นโยบายด้านภาษีเงินได้ ภาษีศุลกากร และการกีดกันคนเข้าเมืองผิดกฎหมายของทรัมป์มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นในระยะกลาง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 2,781 ล้านบาท และ 4,101 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะติดตามข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนต.ค.ของสหรัฐฯ และโค้งสุดท้ายสู่การเลือกตั้งสหรัฐฯซึ่งนักลงทุนมองว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่พรรครีพับลิกันจะสามารถคุมทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยกระแส Red Sweep ดังกล่าวจะทำให้ทรัมป์ผลักดันนโยบายการคลังได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)จะคงดอกเบี้ยที่ 0.25% ในวันที่ 31 ต.ค. ส่วนการเคลื่อนไหวอ่อนค่าทางเดียวของเงินเยนได้เพิ่มความเสี่ยงของการแทรกแซงอีกครั้ง แต่เราประเมินว่าทางการญี่ปุ่นอาจรอหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินเยนจากระดับปัจจุบันสนับสนุนมุมมองของเราที่ว่าบีโอเจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.แม้พรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาลของญี่ปุ่นจะได้คะแนนเสียงน้อยลงในการเลือกตั้งล่าสุด

สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนก.ย. ทางด้านผู้ว่าการธปท.จะหารือกับรมว.คลังเพื่อตกลงเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อปี 68 โดยธปท.ส่งสัญญาณว่าจะไม่เร่งลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกหลังจากได้ปรับลดในการประชุมรอบล่าสุด อีกทั้งระบุว่าการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัวเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 2.25%