VicHealth สสส.แคว้นวิกตอเรีย เผย บุหรี่ไฟฟ้าปัญหาความท้าทายใหม่ของโลก ตัวการทำลายสุขภาพ เสี่ยงเด็กเป็นนักเสพสูง เฉพาะออสเตรเลียเริ่มสูบอายุ 14 ปี เด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าบุหรี่ธรรมดา 3 เท่า เร่งทุกประเทศให้ความสำคัญการจัดการกับปัจจัยการค้ากำหนดสุขภาพ นักวิชาการไทย ชี้ เด็ก เยาวชนไม่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย เหตุธุรกิจยาสูบบิดเบือนข้อเท็จจริง

0
357

น.ส.ซาราห์ เซีย หัวหน้าเจ้าหน้าที่ (Chief of Staff) กองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งแคว้นวิกตอเรีย (VicHealth) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นกองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งแรกของโลกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2530 กล่าวว่า การทำงานที่สำคัญในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ คือ การจัดการกับปัจจัยการค้ากำหนดสุขภาพ (Commercial determinants of health)

โดยในเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา VicHealth ได้จัดทำรายงานด้านปัจจัยการค้ากำหนดสุขภาพ เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายมีความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและธุรกิจต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการพูดถึงมากขึ้นในสังคม โดยการใช้บุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียสุขภาพ จากสารเคมีหลายรูปแบบ แต่กลับมีการออกแบบให้สวยงาม เช่น มีรูปลักษณ์คล้ายลิปสติก เครื่องสำอาง หรือปากกา ทำให้คนพกพาและใช้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นอันตราย ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ชาวออสเตรเลียมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น เริ่มใช้ตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยคนที่อายุน้อยสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าบุหรี่ธรรมดา 3 เท่า แม้แต่เยาวชนชาวพื้นเมืองออสเตรเลียก็หันมาลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าเช่นกัน ซึ่งมีหลักฐานมากมายว่าส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยกระทบต่อปอดและระบบหลอดเลือดหัวใจ

“บุหรี่ไฟฟ้ามีหลายรสชาติทำให้คนอยากลองในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการโฆษณาในโซเชียลมีเดีย ถือเป็นความท้าทายในฐานะองค์กรขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ ที่ต้องคิดแก้ปัญหา โดยสร้างความตระหนักรู้ ทำสื่อวิดีโอให้ความรู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียอย่างไร และจัดเป็นนิทรรศการให้เด็กเข้าใจ นอกจากนี้ต้องเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการขับเคลื่อนต่อสู้การใช้บุหรี่ไฟฟ้า” น.ส.ซาราห์ กล่าว

น.ส.ซาราห์ กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลออสเตรเลียเพิ่งได้ประกาศยุทธศาสตร์ยาสูบแห่งชาติ ที่ครอบคลุมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีการกำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด อาทิ การห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะ การห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในร้านค้าปลีกทำให้เข้าถึงได้ยากขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินงานท่ามกลางความท้าทายใหม่นี้ ต้องอาศัยความรวดเร็วในการทำงานเพื่อรับมือปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ บทเรียนสำคัญที่ผลักดันออกนโยบายด้านควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าได้สำเร็จคือ การที่ VicHealth ทำงานกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสียงถึงรัฐบาลให้ออกมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยติดตามและเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 37 ประเทศที่มีกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก แต่ขณะนี้เครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับบริษัทบุหรี่กำลังวิ่งเต้นนักการเมือง เพื่อเสนอให้ยกเลิกการห้ามนี้ อีกทั้งเครือข่ายนี้ยังมีการออกข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้สังคมมีความเข้าใจผิดเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอ้างว่าการยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนได้

“สถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนของไทยกำลังน่าเป็นห่วง พบเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เพราะไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์พวกนี้คือบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งไม่ทราบว่าบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสิ่งเสพติดอันตราย ซึ่งสาเหตุมาจากกลยุทธ์การตลาดที่บิดเบือนของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า รัฐบาลต้องไม่หลงเชื่อข้ออ้างต่าง ๆ ของเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า เพราะคนกลุ่มนี้ทำเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญคือ เร่งให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชน โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง รวมทั้งเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เร่งปราบปรามการขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว