กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 68

0
111

เปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 68 ภาคตะวันออกคึกคัก เกษตรกร 9 จังหวัดภาคตะวันออก ร่วมงานเรียนรู้กระบวนการผลิตภาคการเกษตร พลิกโฉมการผลิตมะม่วง เพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน บริหารจัดการสวนทุเรียน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โชว์งานวิจัยและเทคโนโลยี เพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต
เผยกรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญ มาตรการคู่ค้า และคู่แข่งทางการตลาด
10 เมษายน 2568 ณ ศูนย์เรียนรู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะม่วงนอกฤดูบ้านมาบเหียง ตำบลหนองโพรง อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ชนิดพืชหลัก มะม่วง และทุเรียน ขึ้น โดยมีนายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดงาน นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวรายงาน ด้วยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันจัดกิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ หรือที่เรียกว่างาน Field Day เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เข้ามาเรียนรู้ เทคโนโลยี

การผลิตใหม่ๆ การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มช่องทางการตลาด ตลอดจนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการเลือกใช้เทคโนโลยี
ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรต่างพื้นที่ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ
ในแต่ละสาขา ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
งาน Field day จึงเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ที่เหมาะสมของเกษตรกร
การนี้ นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้กล่าวกับเกษตรกรที่เข้าร่วมงานว่า ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก มีพัฒนาการของโรคและแมลงศัตรูพืชชนิดต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ความผันผวนด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับมาตรการต่าง ๆ ของประเทศคู่ค้า ทั้งเรื่องมาตรฐาน คุณภาพ และคู่แข่งจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นการทำการเกษตรในวันนี้และอนาคตจึงจำเป็นต้องนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมการเกษตรใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่มาส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ต้องมีการปรับตัว และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ต้องมีองค์ความรู้ และปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานให้ทันต่อสถานการณ์
“งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะตอบโจทย์ตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างก้าวตามทันต่อสถานการณ์ สำหรับภาคตะวันออกนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นเมืองแห่งไม้ผล ไม่ว่าจะเป็นมะม่วง มังคุด เงาะ ลองกอง ที่สำคัญคือ ทุเรียน ซึ่งเป็นราชาผลไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศเป็นอย่างมาก รวมถึงพืช และกิจกรรมการเกษตรที่สำคัญอื่น ๆ อีกหลายชนิดสินค้า ทั้งด้านประมง และ
ปศุสัตว์ ซึ่งในวันนี้ได้นำมะม่วง และทุเรียน มาเป็นประเด็นเรียนรู้หลักเพื่อการขยายผลสู่การผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องการ การจัดงานในครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเป็นอย่างดี”

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า ในการจัดงานครั้งนี้เป็นการรวบรวมเอาปัญหาที่เกษตรกรพบจากการทำการผลิตในช่วงที่ผ่านมา แล้วมาทำการแก้ไข โดยทางกรมส่งเสริมการเกษตรจะนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาถ่ายทอดให้เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ในฤดูการผลิตต่อไป ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาที่พบได้ อันจะทำให้เกษตรกรสามารถปิดจุดอ่อนที่เกิดขึ้น หรือสร้างสิ่งที่ดีให้กับฟาร์มของตนเองต่อไป
ทางด้านนางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรก่อนเข้าสู่การเริ่มต้นฤดูกาลผลิต จึงได้มีการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการทำงานร่วมกันในการให้บริการความรู้ด้านการเกษตรและสนับสนุนเกษตรกร ตลอดจนกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ ด้วยการเลือกใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมการเกษตร และภูมิปัญญา ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยมีสถานีเรียนรู้ มะม่วง “พลิกโฉมการผลิตมะม่วง เพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน” และ “การบริหารจัดการสวนทุเรียน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่” เป็นกิจกรรมหลัก มีสถานีย่อย รวม 8 สถานี และกิจกรรมรองประกอบด้วย นิทรรศการงานวิจัยและเทคโนโลยีจากหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบริษัทเอกชน จำนวน 17 นิทรรศการ เป็นการขยายผลงานวิจัยและเทคโนโลยีจากบริษัทเอกชน ในด้านการพัฒนาเกษตรแม่นยำด้วยเทคโนโลยีอวกาศ โดย FARMD ASIA ร่วมกับ สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรปราการ และระบบบริหารจัดการและติดตามการผลิตพืชปลอดภัย GAP โดย บริษัท วีเดฟซอฟท์ จำกัด
“ภายในงานมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นพลิกโฉมการผลิตมะม่วงเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร พร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง การเลี้ยงชันโรงช่วยผสมเกสร Solar Heater หม้อต้มสมุนไพรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การคัดแยกขนาดมะม่วงอัตโนมัติ เตาเผาถ่านไร้ควัน สร้างรายได้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ส่วนสถานีเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตทุเรียนจัดขึ้นในประเด็นการบริหารจัดการสวนทุเรียนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประกอบด้วยการบริหารจัดการสวนทุเรียนโดยการจัดการสภาพแวดล้อมอย่างเหมาะสม เทคโนโลยีนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำ และการใช้วิธีผสมผสานในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช” นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าว
ส่วนนายสงคราม ธรรมมะ ประธานศูนย์เรียนรู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะม่วงนอกฤดูบ้านมาบเหียง ตำบลหนองโพรง อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เผยว่า การพัฒนาเพื่อการผลิตทางกลุ่มฯ จะไม่มีการหยุดยั้งต้องเดินหน้าพัฒนาต่อไป
อย่างต่อเนื่อง โดยนำระบบเกษตรอัจฉริยะในการให้น้ำมะม่วงมาส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มฯ ใช้ ซึ่งจะทำให้มะม่วงติดดอกและผล
ที่มากกว่าและมีขนาดใหญ่สมบูรณ์ สำหรับสวนที่ใช้แล้วพบว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมไร่ละ 1,000 กก. เป็นเฉลี่ยไร่ละ 1,500 กก. โดยมีขนาดผลเกรดส่งออกเพิ่มขึ้น 50 % ควบคู่กับการนำเครื่องคัดมะม่วงมาใช้คัดเกรดมะม่วง เพื่อช่วยลดแรงงานคนและระยะเวลาทำงาน ส่วนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ได้จากการตัดแต่งกิ่งมะม่วงหลังเก็บผลแล้วจะนำมาเผาเป็นถ่านไบโอชา
สร้างมูลค่าเพิ่มโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการขับเคลื่อนการเกษตรตาม BCG Model อีกด้วย ส่วนเศษถ่านจะนำมาบดละเอียดผสมกับแป้งมันขึ้นรูปและอัดแท่งขายเป็นถ่านก้อนจำหน่ายในราคา 25 บาทต่อกิโลกรัม
“การจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ในครั้งนี้ต้องขอขอบคุณทางกรมส่งเสริมการเกษตร
และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เป็นอย่างมากที่เลือกศูนย์เรียนรู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะม่วงนอกฤดูบ้านมาบเหียงเป็นสถานที่จัดงาน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง อยากให้จัดงานเช่นนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรกรที่ไม่มีแหล่งเรียนรู้ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้แล้วนำความรู้ที่ได้รับไปทำในพื้นที่ของตนเอง และถ่ายทอดสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถพัฒนาตนเองในการทำการผลิตได้ดียิ่งขึ้น” นายสงคราม ธรรมมะ กล่าว
การจัดงานในครั้งนี้มีกิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. สถานีเรียนรู้ มะม่วง “พลิกโฉมการผลิตมะม่วง เพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน” “Innovating Mango Farming: Higher Yields, Smarter Practices” 2. สถานีเรียนรู้ ทุเรียน “บริหารจัดการสวนทุเรียน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่” “Managing durian orchards with modern technology” พร้อมสถานีย่อย รวม 8 สถานี และนิทรรศการเกี่ยวกับงานวิจัยและเทคโนโลยีจากหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบริษัทเอกชน จำนวน 17 นิทรรศการ มีเกษตรกรจาก 9 จังหวัดภาคตะวันออก เข้าร่วมงานและเรียนรู้กิจกรรมจากฐานต่างๆ กว่า 300 คน