ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา น้อมรำลึกวันนวมินทรมหาราช ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

0
653

ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 34 จัดกิจกรรมพาครูอาจารย์ และผู้สนใจ ลงพื้นที่ ณ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จ.ปทุมธานี โดยได้รับเกียรติจากนายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี มาร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน เนื่องในโอกาสวันนวมินทรมหาราช วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อน้อมรำลึกถึงพระ เกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร ความสำคัญของการเกษตร และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า คน เรียนรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ความรู้ภูมิปัญญา นวัตกรรมการเกษตร สู่การปฏิบัติและประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน


จากนภาผ่านภูผาสู่มหานที เป็นองค์ความรู้ด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ จากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ท่านทรงมองทุกอย่างแบบองค์รวม ทุกสิ่งล้วนเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องและส่งต่อเป็นวัฏจักร การฟื้นฟูสิ่งหนึ่งก็จะส่งผลต่อสิ่งอื่นๆ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้สรุปพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไว้ในกระดาษแผ่นเดียว โดยเริ่มต้นจากท้องฟ้า คือน้ำหยดแรกจากฝนหลวงจุดเริ่มต้น กลั่นเป็นสายฝน หลั่งลงสู่ภูผา จากยอดเขาไหลรินลงสู่แม่น้ำลำธาร เส้นทางสายน้ำหล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง ก่อเกิดคุณูปการมหาศาลต่อ ทุกชีวิต


พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่รวบรวมองค์ความรู้และพระราชประวัติ พระเกียรติคุณ พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยครูอาจารย์จะได้ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้พระราชประวัติจากพิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา กับภาพยนตร์ 3 มิติเรื่องพ่อในบ้านของเรา ศึกษานวัตกรรมการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การจัดการพื้นที่ขนาดเล็กในชุมชนเมืองเพื่อผลิตอาหารปลอดสารพิษ การพึ่งตนเองด้านพลังงานและที่อยู่อาศัย อาทิ เกษตรพอเพียงเมือง 1 ไร่ บ้านนวัตกรรมพลังงาน กิจกรรมเรียนรู้ฝึกปฏิบัติการทำเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง “สารพัดงอก (ไมโครกรีน)” เป็นต้น


นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิพยประกันภัย เป็นองค์กรที่พร้อมสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีความแข็งแรงและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยยึดหลัก ESG ที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเป็นแนวทางการบริหารจัดการองค์กร กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ โดยสนับสนุนให้ครูอาจารย์ให้ได้มีความเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงหลักทรงงานตามแนวพระราชดำริ เรียนรู้ด้วยประสบการณ์จากการลงมือทำสามารถนำไปต่อยอดขยายผลกับนักเรียนเพื่อให้มีความเข้าใจ ตลอดจนประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ที่จะช่วยพัฒนาสังคมให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และ ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวเพิ่มเติมว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถรอบด้าน ผู้ทรงเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและแผ่นดินไทย พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ยิ่งใหญ่ให้กับคนไทยได้เดินตามรอย ทั้งนี้คุณธรรมหลัก 5 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู เป็นเรื่องที่เราสามารถนำมาพัฒนาตนและนำไปใช้ปฏิบัติเพื่อเดินตามรอยพระองค์ท่าน เราทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้


นอกจากนี้ คณะผู้ร่วมกิจกรรมยังได้ร่วมกิจกรรมปล่อยปลาถวายเป็นพุทธบูชา และร่วมมอบหนังสือจากโครงการ อ่านพลิกชีวิต ของอมรินทร์กรุ๊ป มอบทุนการศึกษาจากมูลนิธิธรรมดี ให้กับโรงเรียนในจังหวัดปทุมธานี ทำกิจกรรม Workshop การถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และการบรรยายถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี การบรรยายเรื่องคุณธรรมในยุคดิจิทัล โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม นับว่าเป็นการได้เรียนรู้ พัฒนา และบูรณาการความรู้ครบทุกมิติ ทั้งด้านตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย UNSDG ภายในปี 2030 ทั้งนี้ ครูอาจารย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรว่าได้ผ่านการอบรมจากโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้

โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดโดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี พร้อมด้วยการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสาอ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 35 จะจัดในวันเสาร์ที่ 25 – วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ที่จังหวัดเลย น้อมรำลึกเนื่องในวัน สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์ 099 397 5333 FB : ตามรอยพระราชา-The King’s Journey LINE : The King’s Journey