จากสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องมาช่วงต้นปีแม้ยังคงเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 สะท้อนจากหลากหลายเครื่องชี้วัดด้านการท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนแรกที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว อัตราการเข้าพัก ซึ่งนำไปสู่รายได้จากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 แสนล้านบาท แต่จากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อซึ่งส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น กอปรกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ถึงระดับก่อนเกิดโควิด-19 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนและรัสเซีย แม้ทยอยปลดล็อกมาตรการเดินทางเข้าประเทศแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า ยังคงมีปัจจัยบวกที่หนุนการท่องเที่ยวไทยให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง ดันรายได้นักท่องเที่ยวรวมทั้งปีเพิ่มขึ้นแตะ 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 37%ของรายได้ปี 2562
จับสัญญาณโหมดเดินทางท่องเที่ยวเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ต้นปี
หากเปรียบเทียบสถานการณ์การเดินทาง ณ ปัจจุบันกับช่วงวิกฤตโควิด-19 ในปี 2563 – 2564 โดยใช้ข้อมูลบ่งชี้แบบ Real Time ของ Facebook Mobility พบว่าการเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สอดคล้องกับดัชนีสะท้อนการเดินทาง (BOT Regional Activity Tracker) ที่ให้ภาพการเดินทางที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงข้อมูลของสถิติด้านการท่องเที่ยว พบว่าอัตราการเข้าพักในช่วง 2 เดือนแรกปี 2565 อยู่ที่ 35.6% เทียบกับ ในช่วงเดียวกันปี 2564 อยู่ที่ 13.5% เป็นการเพิ่มขึ้นในทุกภาค โดยภาคเหนือมีอัตราการเข้าพักสูงสุดที่ 55.9% ได้แก่ จังหวัดเชียงราย (75.8%) น่าน (72.2%) รายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติรวม 112,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105% โดยมาจากนักท่องเที่ยวไทยร้อยละ 85
แนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงสงกรานต์ ดันรายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งปีแตะ 1 ล้านล้านบาท
สำหรับการเดินทางในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยประมาณการจากรูปแบบการฟื้นตัวของการเดินทางในช่วงสงกรานต์ปี 2564 อ้างอิงข้อมูลจาก Facebook Mobility แสดงให้เห็นถึงภาพการเคลื่อนที่ของผู้ใช้ Facebook ในทุกภูมิภาคปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตโควิด-19 ในปี 2563 – 2564 โดยเฉพาะการเคลื่อนที่เพิ่มขึ้นในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีสะท้อนการเดินทาง ที่ให้ข้อมูลการเดินทางที่เพิ่มขึ้นในทุกภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เอื้อต่อการเดินทาง ได้แก่ 1) อัตราการฉีดวัคซีนสูงขึ้นมาก โดยอัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอยู่ที่ร้อยละ 34 ของประชากรไทย 2) คนไทยปรับตัวรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้มากขึ้น และ 3) การไม่ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวในช่วงของการระบาดระลอกแรกและระลอกสองที่ผ่านมา ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้กลับมาเป็นจุดเริ่มต้นของโหมดการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยที่มีสัญญาณชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยการยกเลิกการตรวจ RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเข้าประเทศไทยของนักท่องเที่ยวทั้ง 3 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น Test & Go, แซนด์บ็อกซ์ และ แบบกักตัว
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น มีแนวโน้มที่บั่นทอนการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวลง และส่งผ่านไปยังรายได้โดยรวมให้เพิ่มขึ้นในระดับที่ยังจำกัด โดยคาดว่าทั้งปี 2565 รายได้รวมจากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท นับเป็นรายได้สูงสุดในรอบกว่าสองปี แต่ยังคงเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลักที่ร้อยละ 70 โดยเพิ่มขึ้น 3.2 เท่าจากปี 2564 ส่วนรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากปลดล็อกการเดินทางเข้าไทยทุกเงื่อนไข นอกจากนี้ คาดเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวจะกระจายไปทุกภาค โดยอันดับสูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ ซึ่งล่าสุดข้อมูลการจองที่พักของเกาะสมุย และ จังหวัดภูเก็ตอยู่สูงกว่าร้อยละ 60
หลากหลายปัจจัยหนุนการฟื้นตัวต่อเนื่อง แนะผู้ประกอบการจัดแพคเกจนำเสนอไอเดีย รูปแบบที่แตกต่างให้น่าสนใจ รับการท่องเที่ยวที่ปรับเปลี่ยนไป
บรรยากาศการท่องเที่ยวทั่วโลกมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดหลายประเทศในอาเชียน ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย (เกาะบาหลี) และสิงคโปร์ ได้ปลดล็อกเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว ส่วนไทยมีแนวโน้มที่จะปลดล็อกมาตรการเดินทางเข้าประเทศเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงกลางปี ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมามากขึ้น แต่ยังไม่เป็นระดับที่ก่อนเกิดโควิด โดย ttb analytics มองนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้อยู่ที่ 4.5 ล้านคน ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวไทยยังคงเป็นรายได้หลักของภาคการท่องเที่ยวในปีนี้ ด้วยหลากหลายปัจจัยหนุน อาทิ ประชากรได้รับวัคซีนเข้มกระตุ้นมากขึ้น คนไทยเรียนรู้ปรับตัวในสถานการณ์โควิด-19 มากขึ้น และจากข้อมูลการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนไทย ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายด้านยานพาหนะการเดินทางและเพื่อการบันเทิงคิดเป็นร้อยละ 17 ดังนั้น แม้จะเผชิญกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน และกำลังซื้อยังไม่กลับสู่ระดับปกติ แต่เชื่อว่าคนไทยยังคงมีการเดินทางในชีวิตประจำวัน ซึ่งรวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวด้วย โดยมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มใช้จ่ายน้อยลง โดยพิจารณาจากการเลือกจังหวัดเดินทางท่องเที่ยวอาจเป็นจังหวัดใกล้ ๆ หรือเป็นการท่องเที่ยวเมืองรองที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า หรือเลือกรูปแบบการเดินทางเป็นทางบกมากขึ้น จากพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ แนะผู้ประกอบการท่องเที่ยวควรพิจารณาและทำการตลาดที่จะดึงดูดการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับรูปแบบการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ที่มีแนวโน้มกลับมามากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ หากนักท่องเที่ยวที่เป็นตลาดหลัก ได้แก่ จีน และรัสเซียสามารถเดินทางออกนอกประเทศภายในปีนี้ ก็จะเป็นปัจจัยเร่งให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมาเทียบเท่ากับสถานการณ์ก่อนโควิด-19 ได้เร็วขึ้น