ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดจากการเปิดประเทศที่ทำให้การเดินทางเข้าออกประเทศสะดวกมากขึ้น รวมถึงความต้องการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเพื่อชดเชยจากการที่ถูกจำกัดไว้ก่อนหน้า (Pent Up Demand) ซึ่งส่งผลดีต่อฤดูกาลท่องเที่ยวสำคัญของไทยช่วงครึ่งหลัง 2565
โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2565 จะอยู่ที่ 9.5 ล้านคน จากอานิสงส์ตลาดนักท่องเที่ยวระยะใกล้ โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน อินเดีย และตะวันออกกลาง สำหรับปี 2566 ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 18.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 46% ของยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19และจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวได้ 3.7%
ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 เดือนแรกของปีเฉียด 4.4 ล้านคน นำโดยตลาดท่องเที่ยวระยะใกล้ภาพรวมการท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2565 มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงและครอบคลุมขึ้น ทำให้หลายประเทศรวมทั้งไทยทยอยผ่อนคลายมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศมาตั้งแต่ช่วงกลางปี ส่งผลให้ความต้องการท่องเที่ยวเพื่อชดเชยที่ถูกจำกัดไว้ก่อนหน้าจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไปเยือนยังประเทศต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม สูงถึง 4.4 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 20% ของจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19
เป็นที่สังเกตว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มาจากประเทศที่ไม่ห่างไกลจากไทยมากนัก เห็นได้จากยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 8 เดือนแรก กว่า 1 ใน 3 เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีพรมแดนติดหรือใกล้กับไทย (เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และลาว) แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางข้ามพรมแดนและการลดค่าธรรมเนียมเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อการเดินทางเข้าออกผ่านด่านพรมแดนไทยทำได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ การรุกตลาดอินเดียผ่านเวที Roadshow เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาเพื่อชดเชยความไม่แน่นอนในการเปิดประเทศของตลาดจีน รวมถึงการเปิดเส้นทางบินตรงครอบคลุมเมืองรองของอินเดีย ยังหนุนให้นักท่องเที่ยวอินเดียเข้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเฉลี่ยเดือนละ 1-2 หมื่นคนช่วงต้นปี เป็น 1.1 แสนคน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวอินเดียกลายเป็นกลุ่มที่ครองส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย อีกทั้งตลาดตะวันออกกลางซึ่งเป็นกลุ่มมีกำลังซื้อสูงก็เติบโตได้อย่างโดดเด่น อาทิ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิสราเอล หนุนการเติบโตในแง่ของรายรับจากการท่องเที่ยวอีกด้วย
ทั้งนี้ หากพิจารณาร่วมกับจำนวนเที่ยวบินพาณิชย์ขาเข้าระหว่างประเทศมายังท่าอากาศยานหลัก (สุวรรณภูมิและดอนเมือง) ก็พบว่า เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 3,774 เที่ยวบินในเดือนมกราคม เป็น 7,659 เที่ยวบินในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หรือราว 46.5% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 และคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการเดินทางช่วงเทศกาลท่องเที่ยวปลายปี จึงเป็นไปได้ว่าจำนวนเที่ยวบินพาณิชย์ขาเข้าระหว่างประเทศจะแตะ 60% ได้ในช่วงสิ้นปีนี้
ttb analytics ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ดีกว่าคาดที่ 9.5 ล้านคน มองปี 2566 อาจสูงถึง 18.5 ล้านคน
นับตั้งแต่ประกาศปลดล็อกเงื่อนไขให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยผ่านการยกเลิกระบบ Thailand Pass กลายเป็นแรงหนุนสำคัญให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางท่องเที่ยวในไทยสะดวกขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวครึ่งหลังปี 2565 ซึ่งแม้ว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะส่งสัญญาณเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเช่นกัน แต่คาดว่าจะไม่กระทบตัวเลขนักท่องเที่ยวของไทยช่วงปลายปี เนื่องจากพฤติกรรมเที่ยวนอกประเทศภายหลังการเปิดประเทศส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากจุดหมายปลายทางระยะใกล้ (Short Haul Destination) ก่อนในปีนี้ และไทยก็ได้อานิสงส์จากกลุ่มที่มีแนวพรมแดนติดกัน รวมถึงอินเดีย และตะวันออกกลาง เช่นเดียวกับการเปิดประเทศของกลุ่มเอเชียแปซิฟิกที่โดยมากจะเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศใกล้เคียงอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และฮ่องกง
ดังนั้น ttb analytics จึงประเมินว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยช่วงครึ่งหลังปี 2565 จะอยู่ที่ 7.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกถึง 2.5 เท่า ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดทั้งปี 2565 อยู่ที่ 9.5 ล้านคน (จากประมาณการเดิมที่ 7 ล้านคน) สร้างรายได้ราว 4.6 แสนล้านบาท สำหรับปี 2566 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 18.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 46% ของตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562
อย่างไรก็ดี แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สะท้อนผ่านข้อมูลการเคลื่อนที่ (Google Mobility Data) ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้เริ่มกลับมาเป็นปกติแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ระดับการฟื้นตัวในภาพรวมยังคงต่ำกว่าก่อนสถานการณ์โควิด-19 อยู่มาก สะท้อนผ่านดัชนีผลผลิตภาคบริการ (Service Production Index) ในหมวดที่พักแรมและบริการด้านอาหารที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนวิกฤตราวครึ่งหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศที่กลับมาคึกคักได้ในระยะหลังมีแรงหนุนสำคัญจากไทยเที่ยวไทยเป็นหลัก ทำให้ภาพรวมจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงฟื้นตัวได้จำกัด สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักแรม (Occupancy Rate) ของภาคใต้ที่เฉลี่ยอยู่ที่เพียง 40% เมื่อเทียบกับอัตราการเข้าพักแรมของภาคเหนือซึ่งพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นหลักที่ 50%
ชี้ธุรกิจโรงแรมปี 2566 ยังเจอความท้าทายอีกมาก แนะปรับตัวเพื่อลดต้นทุน
แม้ธุรกิจโรงแรมที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลักมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วจากโมเมนตัมการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่ ttb analytics มองว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงปลายปี 2567 ทำให้ธุรกิจโรงแรมยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมากในปี 2566 จากการที่นักท่องเที่ยวไทยที่มีกำลังซื้อสูงบางส่วนจะเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาใกล้เคียงกับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ก็อาจต้องรอแรงส่งจากกลุ่มหลักอย่างนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่าจะกลับมาเยือนไทยได้เต็มที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
นอกจากนี้ อุปทาน (Supply) ห้องพักโดยรวมก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากอุปทานเดิมที่โรงแรมบางส่วนซึ่งประสบภาวะขาดทุนก่อนหน้านี้จะกลับมาดำเนินกิจการเต็มรูปแบบหลังท่องเที่ยวเริ่มฟื้น ทำให้ห้องพักใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มเติมจากการเปิดตัวโรงแรมของผู้ประกอบการขนาดใหญ่มากกว่า 20 แห่งในปี 2566 หลังจากที่ชะลอการเปิดออกไปในช่วงปิดประเทศ ท่ามกลางการแข่งขันด้านราคาของธุรกิจโรงแรมที่รุนแรงขึ้น เห็นได้จากราคาห้องพักเฉลี่ยทั้งประเทศในปัจจุบันที่ยังต่ำกว่าระดับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ถึงกว่า 30% สวนทางกับต้นทุนค่าแรงและการดำเนินงานที่ปรับสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
ฉะนั้น กลยุทธ์สำคัญของธุรกิจโรงแรมจึงหนีไม่พ้นเทรนด์การปรับตัวเพื่อตอบสนองพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป การนำเทคโนโลยีมาใช้และการหันมาเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์มากขึ้น ตลอดจนการมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ เพื่อลดต้นทุนทั้งในส่วนของต้นทุนคงที่และต้นทุนแปรผันให้มีความคล่องตัวรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต