TOA ผนึก สอศ. ปั้นนักเรียนอาชีวะเป็น ‘เถ้าแก่เจ้าของธุรกิจ’ รุ่นใหม่ กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจและเศรษฐกิจให้ประเทศไทยมั่นคง

0
563

บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA ผู้นำตลาดสีทาอาคารและวัสดุก่อสร้างครบวงจรแบบ Total Solution ซึ่งนอกจากจะให้ความสำคัญในการคิดค้น สร้างสรรค์ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองผู้บริโภคอยู่เสมอแล้ว ยังดำเนินโครงการด้านการพัฒนาเยาวชนไทยในการมอบโอกาสทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง

โดยฉพาะนักเรียนอาชีวะถือเป็นกลุ่มเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนภาพรวมอุตสาหกรรมของประเทศชาติ โดยตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2554) ที่ทีโอเอได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อส่งเสริม ยกระดับนักเรียนอาชีวะ พัฒนาปลุกปั้นหลักสูตรการเรียนรู้พิเศษ มุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานและทักษะ พร้อมส่งเสริมชี้ให้นักเรียนอาชีวะได้เห็นแนวทางที่จะสามารถสร้างตนเอง เพื่อก้าวสู่การเป็น “เถ้าแก่หรือเจ้าของธุรกิจ” รุ่นใหม่ มีอาชีพ สร้างรายได้อย่างมั่นคง

โดยเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 – ทีโอเอ จึงได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อเดินหน้าสานต่อ “โครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา” ต่อเนื่อง เป็นฉบับที่ 3 (ปี 2566 – 2569) เพื่อหวังผลักดันสร้างนักเรียนอาชีวะให้เป็นเถ้าแก่เจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ สร้างรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ โดยมี นายประจักษ์ ตั้งคารวคุณ ประธานกรรมการ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ณ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

นายประจักษ์ ตั้งคารวคุณ ประธานกรรมการ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ทีโอเอ ในฐานะผู้ประกอบการในวงการวัสดุก่อสร้างกว่า 60 ปี จึงทำให้เราเห็นช่องทางและโอกาสของนักเรียนอาชีวะในสาขาวิชาช่างก่อสร้าง และสายช่างอื่นๆ ฯลฯ ที่ถึงแม้ไม่ได้เรียนจบปริญาญาตรี แต่ก็มีโอกาสเติบโต มีงานทำ มีรายได้ และต่อยอดสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจได้เช่นกัน เพราะปัจจุบันตลาดรีโนเวทบ้านและอาคารเก่าที่มีอายุกว่า 50 ปีขึ้นไป มักพบปัญหาสีผนังลอกล่อน ปัญหาระบบกันซึมรั่วร้าวต่างๆ จึงนับเป็นตลาดที่ใหญ่และมีมูลค่ามหาศาล ดังนั้น นักเรียนอาชีวะที่เรียนในสาขาวิชาช่างก่อสร้าง โยธา ช่างไฟฟ้ากำลัง ฯลฯ จึงมีความได้เปรียบ สามารถมีโอกาสประสบความสำเร็จ และเป็นเถ้าแก่เจ้าธุรกิจ SME รุ่นใหม่ได้ ซึ่งปัจจุบันยังขาดช่างแรงงานคุณภาพที่มีความชำนาญการเหล่านี้อยู่จำนวนมาก

พร้อมแนะบันไดสู่ความสำเร็จของนักเรียนอาชีวะ ควรต้องไปฝึกงานเป็นลูกจ้าง เพื่อหาประสบการณ์ เรียนรู้ ฝึกฝนปฏิบัติงานจากของจริงกับบริษัทมืออาชีพในแต่ละสายงานอย่างน้อย 5 – 10 ปี และต้องมีคุณธรรมความซื่อสัตย์และขยันในงานที่รับผิดชอบ ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของธุรกิจ SME ได้ และควรเริ่มต้นจากการรับงานเล็กๆ อย่างเช่น ผู้รับเหมาช่างทาสี ไฟฟ้า ประปา กระเบื้อง สุขภัณฑ์ เป็นต้น นอกจากนี้ วิชาสายงานอาชีพช่างเหล่านี้ ยังเป็นที่ต้องการของตลาดภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก สามารถก้าวออกไปหาเงินในตลาดต่างประเทศ ทำให้มีรายได้มากยิ่งขึ้น อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และกลับมากลาย เป็นเจ้าของธุรกิจ สร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัว นำเงินตราเข้าประเทศ ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”

โดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเสริมว่า “สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็น MOU ฉบับที่ 3 มีระยะเวลา 3 ปี (ปี 2566 – 2569) ที่ได้ดำเนินการกับทีโอเอ ภายใต้แนวคิดและเจตนารมณ์ร่วมกัน เพื่อพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษา โดยการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ผลิตและพัฒนานักเรียน นักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ด้านวิชาชีพประเภทช่างอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และความต้องการภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน
สำหรับ สอศ. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้เข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ ถือเป็นนโยบายหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นแนวทางที่สำคัญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และความชำนาญด้านทักษะปฏิบัติให้กับครูและนักเรียน อันจะช่วยยกระดับการเรียนการสอนอาชีวศึกษาในด้านช่างอุตสาหกรรมให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สภาพตลาดแรงงาน และส่งเสริมให้นักเรียนอาชีวะมีอาชีพ สร้างรายได้ รวมทั้งการเป็นเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ต่อไป ตามแนวคิดประเทศไทยมั่นคง ร่ำรวยด้วยมืออาชีวะ นับเป็นโอกาสดีที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ เข้าใจ และสร้างผู้เรียนอาชีวศึกษาอย่างจริงจัง ถือได้ว่าเป็นการวางรากฐาน เชื่อมโยง พัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในทุกมิติอย่างเป็นระบบ เข้มข้น เกิดสมรรถนะวิชาชีพที่เป็นมาตรฐานสากล เพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน”

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวนี้ ทีโอเอจะเข้าไปมีบทบาท เพื่อมีส่วนร่วมก่อให้เกิดการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ
1. การจัดทำหลักสูตรทักษะงานสีและเคลือบผิวเพื่องานก่อสร้างมาตรฐานทีโอเอ (TOA Total Coating Solution) ประกอบด้วย 3 หลักสูตรสำคัญ ได้แก่ 1.1) หลักสูตรระดับพื้นฐาน 1.2) หลักสูตรเฉพาะทาง 1.3) หลักสูตรเส้นทางสู่มืออาชีพ รวมทั้งการจัดทำหลักสูตรบัญชีราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงาน
2. การสร้างศูนย์การเรียนรู้ระบบสีมาตรฐานทีโอเอ ซึ่งเป็นห้องเรียนรู้เทคโนโลยีเฉพาะทางอาชีวศึกษา ปัจจุบันมีจำนวน 18 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมสร้างการเรียนรู้ระบบสีเคลือบผิววัสดุก่อสร้างทุกประเภทที่เป็นมาตรฐานงานก่อสร้าง และเป็นเครื่องมือประกอบการสอนวิชางานสีเพื่องานก่อสร้างให้กับครูผู้สอนด้วย ตั้งเป้าจะขยายศูนย์การเรียนดังกล่าวในครอบคลุมสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั่วประเทศ
3. การจัดการเรียนรู้ผ่านสื่อระบบออนไลน์ (TOA E-Learning) เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนการสอนวิชางานสีเพื่องานก่อสร้าง ของครูแผนกช่างก่อสร้าง ผ่านระบบออนไลน์ที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้เรียนในปัจจุบัน ที่เป็นมาตรฐานการเรียนรู้ โดยนักเรียนสามารถเข้าเรียนและทำแบบทดสอบวัดระดับความรู้ได้ด้วยตนเอง
4. การสนับสนุนการแข่งขันทักษะวิชาช่างก่อสร้างระดับภาคและระดับชาติ ในสาขางานไม้และงานสี เพื่อสร้างการเรียนรู้เรื่อง Product Experience ให้นักศึกษามีประสบการณ์ด้านการใช้งานสีที่ได้มาตรฐาน
5. การสนับสนุนการแข่งขันทักษะวิชาช่างก่อสร้างระดับภาคและระดับชาติ ในสาขาประมาณราคางานก่อสร้าง ให้นักศึกษามีประสบการณ์ด้านการเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง ระบบสีเคลือบผิววัสดุก่อสร้างต่างๆ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม ปริมาณการใช้ที่เหมาะสม ถูกต้อง การวางแผนบริหารจัดการงบประมาณการก่อสร้างที่เหมาะสม ช่วยส่งเสริมความสามารถด้านทักษะงานช่างให้กับนักศึกษาทั่วประเทศ
6. โครงการอบรมวิชาชีพนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาทักษะการทาสี เพื่อส่งเสริมกิจกรรมพิเศษของแผนกช่างก่อสร้างแต่ละสถานศึกษาให้ได้รู้จักและรู้เท่าทันเทคโนโลยีงานสีเคลือบผิวที่สอดคล้องกับการใช้งานของมืออาชีพในปัจจุบัน เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสู่ การประกอบวิชาชีพ และส่งเสริมทักษะชีวิตการทำงานด้านการควบคุมงานก่อสร้างให้เกิดประสิทธิภาพตามมาตรฐาน
7. การสนับสนุนการศึกษาดูงานจริงในโรงงานสายงานการผลิตของบริษัทฯ รวมทั้งยังผลักดันโครงการฝึกงาน กับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างและงานสี เพื่อให้นักเรียนอาชีวะได้เรียนรู้การฝึกปฏิบัติงานจริง มีรายได้จากการฝึกงาน และเมื่อฝึกงานสำเร็จ ยังได้เห็นโอกาสช่องทางในสายงานอาชีพของตนเองอีกด้วยสำหรับการลงนามความร่วมมือฉบับนี้ ทีโอเอยังได้สนับสนุนงบประมาณต่างๆ รวมเป็นจำนวนเงินปีละ 1.6 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 3 ปี ทั้งวัสดุ อุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงจากทีโอเอ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนของสถานศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษา สนับสนุนการผลิตสื่อการเรียนการสอนให้กับสถานศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งสนับสนุนเงินรางวัลและวัสดุการจัดการแข่งขัน เพื่อใช้ในการแข่งขันทักษะวิชาชีพระดับภาคและระดับชาติ

ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นแนวทางที่สำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างประสบการณ์ ความชำนาญด้านทักษะการปฏิบัติให้ครู นักเรียนอาชีวะ นี่จึงถือเป็นเป้าหมายที่ได้มาร่วมกัน เพื่อเป็นแรงกระเพื่อมที่สำคัญเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาในระบบการเรียนการสอนของอาชีวะ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักเรียนอาชีวะ จะตระหนักเห็นถึงคุณค่าทักษะวิชาชีพของตนเอง พร้อมนำโอกาสที่ได้รับต่างๆ เหล่านี้มาพัฒนาทักษะฝีมือและความสามารถ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนภาพรวมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไป