TMB Analytics ประเมิน หากไทยพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ไตรมาส 4   โดยมีนักท่องเที่ยวที่จะกลับมา ทั้งจากประเทศหลักในยุโรป สหรัฐอเมริกา และกลุ่มเอเชียตะวันออกบางประเทศ ซึ่งหากดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ 50% ของจำนวนเดิมก่อนโควิด-19 จะสร้างรายได้ให้ประเทศไทยกว่า 6.4 หมื่นล้านบาท

0
1925

นับแต่เริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มแรกเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ทั่วโลกมีจำนวนวัคซีนที่ถูกฉีดไปแล้วกว่า 250 ล้านโดส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัคซีนที่ถูกฉีดในสหรัฐอเมริกามากถึง 31% ของสถิติทั้งหมด รองลงมาเป็นจีนที่ 19% สหภาพยุโรป 14% และอังกฤษ 8% ขณะที่กลุ่มอาเซียนมีสัดส่วน 1.5% โดยเกือบทั้งหมดเป็นของอินโดนีเซีย  จึงถือว่าการฉีดวัคซีนในภูมิภาคอาเซียนโดยรวมยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งโลก

ทั้งนี้ การเริ่มฉีดวัคซีนในต่างประเทศถือว่ามาเร็วกว่าที่คาดไว้ (เดิมคาดว่าจะเป็นกลางปี 2564) ประกอบกับข้อมูลแผนการจัดหาวัคซีนของประเทศต่าง ๆ พบว่า กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ ทั้งยุโรป สหรัฐฯ จะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชากรได้ถึงร้อยละ 70 ซึ่งเป็นระดับที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งสามารถกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ โดยเฉพาะการเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศภายในภูมิภาคได้ตั้งแต่กลางปี 2564  และจะทยอยออกเดินทางเพื่อท่องเที่ยวต่างภูมิภาคได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3/2564 ขณะที่ฝั่งเอเชียตะวันออกบางประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง จะสามารถฉีดวัคซีนได้ในระดับเดียวกันในช่วงต้นไตรมาส 4/2564 และจะเริ่มกลับมาเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศนับแต่ไตรมาส 4/2564 เป็นต้นไป 

สำหรับกรณีของไทยที่สามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การฉีดวัคซีนให้ถึงระดับภูมิคุ้มกันหมู่ยังดำเนินการได้อย่างล่าช้า ทำให้ความสามารถของไทยในการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับมาในปี 2564 นั้น ตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่สำคัญ คือ 1) ไม่มีการระบาดรอบใหม่ในช่วงที่เหลือของปี 2564 2) มีการฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง และประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 70 ในไตรมาส 4/2564 3) ไทยผ่อนคลายมาตรการกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วเหลือ 1-3 วัน ในไตรมาส 4/2564 

TMB Analytics จึงประเมินว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะกลับเข้ามาเที่ยวไทยในครึ่งปีหลังจะมาได้จากทั้ง 2 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มพำนักระยะยาว (มีระยะเวลาพำนักเฉลี่ย 2 สัปดาห์)  เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีโอกาสจะทยอยกลับเข้าท่องเที่ยวไทยได้เป็นกลุ่มแรก เนื่องจากมาจากกลุ่มประเทศที่มีภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งจะเริ่มเข้ามาได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3/2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ โครงสร้างสถิตินักท่องเที่ยวปี 2562 ก่อนมีระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า สหราชอาณาจักร เยอรมัน ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักของไทยในกลุ่มนี้  ซึ่งเดิมมีจำนวน 1 ล้านคนต่อไตรมาส (คิดเป็น 41% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในกลุ่มระยาวทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ไตรมาสละ 2.5 ล้านคน) และมีค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ 66,700 บาทต่อคนต่อทริป โดยคาดว่าในครึ่งปีหลังนี้ หากสามารถกลับเข้ามาได้ 15% ในไตรมาส 3/2564 และ 50% ในไตรมาส 4/2564 จะทำให้มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มนี้รวม 6.5 แสนคน และมีเม็ดเงินในระบบเพิ่มขึ้น 3.9 หมื่นล้านบาท โดย 5 จังหวัดหลักที่นิยมเข้ามาพำนักอยู่มากที่สุดเป็น กรุงเทพฯ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และเชียงใหม่

2.กลุ่มพำนักระยะสั้น (มีระยะเวลาพำนักเฉลี่ย 1 สัปดาห์) : จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดหลักของไทยในกลุ่มพำนักระยะสั้น จะมีระดับภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงปลายไตรมาส 3/2564 นี้ และพร้อมออกท่องเที่ยวต่างประเทศได้ในไตรมาส 4/2564 ซึ่งจากข้อมูลในปี 2562 พบว่ามีนักท่องเที่ยวจาก 3 ประเทศนี้อยู่ที่ 1.2 ล้านคนต่อไตรมาส (คิดเป็นสัดส่วน 15.8% ของนักท่องเที่ยวในกลุ่มพำนักระยะสั้นซึ่งมีอยู่ที่ไตรมาสละ 7.5 ล้านคน) มีค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ 40,600 บาทต่อคนต่อทริป ซึ่งหากกลับเข้ามาได้ 50% จะทำให้มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มนี้ 6 แสนคน และมีรายได้ราว 2.5 หมื่นล้านบาท โดย 5 จังหวัดที่เข้ามาพำนักอยู่มากที่สุดเป็น กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ และประจวบคีรีขันธ์

ดังนั้น หากรัฐและเอกชนประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับท่องเที่ยวต่างชาติที่พร้อมเดินทางทั้ง 2 กลุ่มให้กลับเข้ามาในไทยได้เร็ว จะช่วยให้ครึ่งหลังของปี 2564 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางกลับเข้ามาไทยได้อย่างน้อย 1.25 ล้านคน และมีรายได้จากการท่องเที่ยวหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 6.4 หมื่นล้านบาท 

นอกจากนี้ ไทยยังอาจจะได้รับปัจจัยบวกเพิ่ม ได้แก่ 1) นักท่องเที่ยวจีนที่ปัจจุบันมีความต้องการมาเที่ยวไทย ซึ่งปัจจุบันยังรอพัฒนาด้านการรับวัคซีนของคนในประเทศ และนโยบายที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด 2) การวางแผนด้านการตลาดเชิงรุกของไทยได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ กลับมาพร้อมอย่างเต็มที่ในการเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจ เพื่อจะช่วยทำให้การท่องเที่ยวกลับมาได้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน