TMB Analytics คาดตลาดปุ๋ยเคมี ปี 2564 เติบโตกว่า 2.5% ด้วยมูลค่า 1.3 แสนล้านบาท จากตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือและใต้ ที่มีสัดส่วนรวมกว่า 64% ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงด้านต้นทุนสูงของผู้ประกอบการ

0
2390

ในปี 2564 การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ก่อให้เกิดความเปราะบางของเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้ง และยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจไทย  แต่ในภาคการเกษตรของไทยยังคงมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการอุปโภค บริโภค และการส่งออกไปยังตลาดโลก ตลอดจนระดับราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้จากภาคเกษตรกลับมาเติบโตได้ดี คาดการณ์ว่าจากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้น ย่อมทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการเพิ่มอัตราการผลิต ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานโดยตรง ซึ่งหากไม่รวมสารเคมีและยาปราบศัตรูพืชแล้ว อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าสูงถึงปีละกว่า 1.3 แสนล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นตลาดการผลิตปุ๋ยเคมี 5.7 หมื่นล้านบาท และการส่งออกปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรมูลค่า 7.4 หมื่นล้านบาท

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ได้วิเคราะห์อุปสงค์ของปุ๋ยเคมีในระดับภูมิภาค ตามปริมาณการใช้ปุ๋ยของพืชเศรษฐกิจโดยแยกตามประเภทของพืชและภูมิภาค ร่วมกับการวิเคราะห์อุปทานโดยจำแนกตามประเภทของปุ๋ยและขนาดของบริษัท ในภาพรวมพบว่า การฟื้นตัวของการบริโภคอาหารจากสินค้าการเกษตรในประเทศและตลาดโลก มีแนวโน้มทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมไปถึงปรากฏการณ์ลานีญาที่มีกำลังอ่อน  ส่งผลให้ปริมาณน้ำและสภาพอากาศในช่วงฤดูฝนเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้น คาดการณ์ว่าปี 2564 อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีจะมีแนวโน้มเติบโต 2.5 % และเมื่อวิเคราะห์ถึงอุปสงค์ในระดับภูมิภาค พบว่าพื้นที่ที่มีมูลค่าการผลิตและซื้อขายปุ๋ยเคมีสูงที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยมีมูลค่าเท่ากับ 4.6, 3.7, 2.6 และ 2.1 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ โดยมีปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งประเทศ 5.1 ล้านตัน 

หากพิจารณาเป็นการใช้ปุ๋ยตามพืชเศรษฐกิจหลัก พบว่ามีการใช้ปุ๋ยสำหรับการปลูกข้าวมากที่สุด 2.0-2.3 ล้านตันที่เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 3-8% รองลงมาคือยางพารา 1.2-1.5 ล้านตัน ซึ่งลดลงจากปี 2563 ประมาณ  -1 ถึง -4%) ปาล์มน้ำมัน 0.6-0.7 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 4-6%  อ้อย 0.4-0.6 ล้านตัน ซึ่งลดลงจากปี 2563 ประมาณ -14 ถึง -16%  และมันสำปะหลัง 0.3-0.4 ล้านตัน ซึ่งลดลงจากปี 2563 ประมาณ -2 ถึง -4%

จากการวิเคราะห์ผลประกอบการและแนวโน้มการผลิตปุ๋ยในประเทศ พบว่า ปุ๋ยเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งการนำเข้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ซึ่งผู้ผลิตในประเทศจะนำมาผสมกันและจำหน่ายต่อไปยังร้านค้าส่งและค้าปลีก โดยในปี 2563 ที่ผ่านมามีปริมาณนำเข้าปุ๋ยเคมีมากถึง 5.14 ล้านตัน โดยราคานำเข้ามีทิศทางปรับตัวลดลงจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกถึง 12% อันเป็นผลจากทิศทางการแข็งตัวของค่าเงิน และราคาน้ำมันในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาขายส่งและขายปลีกเฉลี่ยลดลงจากปี 2563 ถึง 6.4% และ 11.6% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคาวัตถุดิบนำเข้าในปี 2564 จะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและเคมีภัณฑ์ ซึ่งทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตสูงขึ้น ในขณะที่ราคาขายปลีกในประเทศมีขั้นตอนในการขึ้นราคาจากการควบคุมของภาครัฐ ทำให้สัดส่วนกำไรของธุรกิจจะน้อยลงแม้ปริมาณการใช้ปุ๋ยภายในประเทศยังคงเติบโตต่อเนื่อง

แม้ว่าอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมียังมีแนวโน้มเติบโตได้ แต่รายได้กลับไปกระจุกที่บริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งครอบครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 91% จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจปี 2562 ที่ผ่านมา ผู้ผลิตปุ๋ยเคมีในประเทศที่จดทะเบียน มีจำนวนทั้งสิ้น 723 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตรายเล็กประมาณ 657 ราย (90.9%) ผู้ผลิตขนาดกลาง 56 ราย (7.7%) ส่วนผู้ผลิตรายใหญ่ มีเพียง 10 ราย  (1.4%) แต่ผู้ผลิตขนาดกลางและใหญ่มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมากถึง 91% ส่วนผู้ประกอบการร้านค้าส่งปุ๋ยเคมีการเกษตร มีจำนวน 1,207 ราย แบ่งเป็นผู้ผลิตรายกลางและเล็ก (SMEs) เกือบทั้งหมด 1,194 ราย (ประมาณ 99%) และผู้ผลิตรายใหญ่เพียง 13 ราย (1%) ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ มักมีความได้เปรียบด้านการตลาด ทั้งด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า และมีช่องทางการจำหน่ายปุ๋ยเคมีให้แก่ภาครัฐผ่านวิธีการประมูลราคา ทั้งยังมีการใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ผลิตรายเล็กจะมีข้อจำกัดในการขยายปริมาณการผลิต รวมไปถึงขาดการวิจัยและพัฒนาเพื่อพัฒนาคุณภาพและลดต้นทุน 

แนวโน้มการเติบโตอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีในอนาคต ยังมีความท้าท้ายจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความผันผวนของค่าเงินและราคาปุ๋ยเคมี ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ รวมไปถึงต้นทุนของเกษตรกร ดังนั้น การทำให้ธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับภาคเกษตรกรรม นอกจากจะต้องมองหาโอกาสและปรับตัวรับความเสี่ยง โดยเฉพาะ SMEs ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ควรหันมาส่งเสริมการขายด้วยการให้คำแนะนำและให้บริการเพื่อส่งเสริมด้านการขายรูปแบบใหม่ ๆ แก่เกษตรกรควบคู่กันไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนช่วยเหลือภาคเกษตรของรัฐ  และช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับธุรกิจ อีกทั้งยังเพิ่มความเข้มแข็งของภาคเกษตรได้ในระยะยาว  เช่น การให้ความรู้ในการใช้ระบบ Smart farming ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการระบบการเพาะปลูก การสนับสนุนให้มีการวิจัยพัฒนาการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยชีวภาพควบคู่กัน  และการให้คำแนะนำเกษตรกรเพื่อนำไปใช้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ให้เหมาะกับสภาพดินและพืชที่จะเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่