TCMC แย้มผลประกอบการ Q1/2022 พลิกฟื้นเห็นผลกำไร ลุยปรับเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการดำเนินงาน พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตฝ่าความท้าทาย 

0
1126

ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน (TCM Corporation) หรือ TCMC  เผยผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2565 (Q1/2022)ทำรายได้กว่า 2.39 พันล้านบาท พลิกฟื้นกลับทำกำไรสุทธิ 54.02 ล้านบาท สะท้อนศักยภาพการบริหารและการเติบโตของบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ แม้ต้องเผชิญปัจจัยท้าทายใหม่ต่อเนื่อง รวมถึงวิกฤตจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง วัตถุดิบและคำสั่งซื้อ ลั่นพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจ เติบโตฝ่าทุกความท้าทาย 

    นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  (TCMC)  เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ จำนวน 2,394.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 1,838.69 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.22 และมี EBITDA จำนวน 167.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 63.60 ส่งผลให้มีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิ 54.02 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 15.29 ล้านบาท โดยคิดเป็นกำไรสุทธิส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ 19.16 ล้านบาท 

    สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 นี้เป็นผลจากตลาดที่เริ่มฟื้นกลับมาหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการทยอยฟื้นตัว และการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งในด้านกระบวนการผลิตและบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งยังคงมีความต้องการของตลาด และจากคำสั่งซื้อที่คงค้างมาจากปลายปี 2564 อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาดูผลกระทบจากความท้าทายใหม่ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์ระหว่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อราคาพลังงานโลก ทำให้ค่าขนส่ง และต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น การขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ การลงทุนในตลาดทุน การฟื้นตัวเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนภายในโลก และกำลังซื้อ ซึ่งล้วนมีผลสืบเนื่องกันอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจนางสาวปิยพร กล่าว

  • กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และวัสดุปูพื้นเริ่มฟื้นตัว 

ในไตรมาสแรกของปี 2565 กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ (TCM Living) สามารถทำยอดขายได้ดี ผลกำไรสุทธิที่ 92.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 7.27 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1,178.15 เป็นผลมาจากความต้องการซื้อที่ยังคงสูงอยู่ และยังมีออเดอร์คงค้าง รอการส่งมอบต่อเนื่องมาจากปีก่อนหน้า รวมถึงมีรายได้จากการจำหน่ายธุรกิจ Arlo Living ที่ประเทศอังกฤษ และกำไรจากสัญญาอนุพันธ์ นอกจากนี้บริษัทได้มีการปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริหารจัดการเรื่องต้นทุนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมการให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในอนาคต รวมถึงปัจจัยท้าทายอื่น ๆ ที่ไม่อาจควบคุมได้ อาทิ ปัญหาความล่าช้าในการขนส่งระหว่างประเทศ และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และแรงงาน ขนส่งต้นทุนวัตถุดิบที่มีราคาสูงจากเรื่องอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ประกอบกับภาวะความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นยังยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นอย่าง​ชัดเจน                                                                                                                                     

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจวัสดุปูพื้น (TCM Flooring) รายได้จากการขายและบริการจำนวน 384.20 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 26.11 เป็นผลจากการฟื้นตัวของตลาดท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจ รวมถึงการพยายามเปิดตลาดใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะยังไม่สามารถกลับมาเท่ากับข่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม อย่างไรก็ตามจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นและต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์ตลาดที่บางส่วนยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คำสั่งซื้อยังเข้ามาไม่มากพอ และค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่สูงขึ้น ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจากร้อยละ 36.07 เป็น 31.05 รวมถึงในไตรมาสแรกของปีก่อนหน้ามีการลดเงินเดือนพนักงานและตัดค่าใช้จ่ายหลายรายการ ทำให้อัตราต้นทุนอยู่ในระดับต่ำกว่าสถานการณ์ปกติ แต่เมื่อคิดเป็นอัตราส่วนต่อยอดขายยังสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ร้อยละ 6 จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการทำงานให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่มีอยู่ และมีการควบคุมค่าใช้จ่ายให้มากขึ้นเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ ทำให้กลุ่มธุรกิจวัสดุปูพื้นมีผลขาดทุนสุทธิ 56.71 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 49.28 ล้านบาท                                                                                                                                          

ทางด้านกลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ (TCM Automotive) มีผลกำไรสุทธิ 17.85 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.85 ของยอดขาย แม้กลุ่มธุรกิจมียอดขายลดลงจาก 222.43 ล้านบาท เหลือ 201.72 ล้านบาทจากปริมาณคำสั่งซื้อที่ยังไม่เพียงพอ และอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกนี้ ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิพประมวลผลและชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ และจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้มีโรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งหยุดดำเนินการชั่วคราว จากการขาดแคลนชิ้นส่วนผลิต หรือมีวัตถุดิบหลักที่ต้องใช้จากผู้ผลิตที่มีที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความขัดแย้ง หรือตัวโรงงานผลิตเองที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งยังคงต้องจับตาดูสถานการณ์และผลกระทบอื่น ๆ ต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด 

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปีนี้ กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 75.53 สูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีสัดส่วนร้อยละ 71.33 ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด กลุ่มธุรกิจวัสดุปูพื้นมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 16.05 ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีสัดส่วนร้อยละ 16.57 ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด ในขณะที่ กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 8.42 ต่ำกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีสัดส่วนร้อยละ 12.10 ของรายได้จากการขายและบริการทั้งหมด

จากการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้ แสดงให้เห็นว่าบริษัทและพนักงาน บุคลากรทุกคนได้พยายามและให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการบริหารและดำเนินธุรกิจให้ราบรื่นเพื่อฝ่าฟันกับอุปสรรค ความเปลี่ยนแปลงและปัจจัยท้าทายต่าง ๆ สร้างรายได้ที่เติบโตและสร้างผลกำไรให้บริษัทและผู้ถือหุ้น และในช่วงที่เหลือของปี บริษัทยังคงเดินหน้าปรับแผนการทำงานที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเราพร้อมที่จะเดินเครื่องการผลิตรับคำสั่งซื้อและการฟื้นตัวของโลก ตอบรับข่าวดีการเปิดประเทศของหลาย ๆ ประเทศและการปรับการดำเนินชีวิตสู่ความปกติบทต่อไป ( Next Normal) ที่จะอยู่ร่วมกับโควิด-19 ซึ่งจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในอนาคตอันใกล้ โดยเราเชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการอื่น ๆ จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ และจะเริ่มมีคำสั่งซื้อทยอยเข้ามาในทุกกลุ่มธุรกิจของเรา ซึ่งนอกจากเราจะมุ่งสู่การเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกแล้ว เรายังมุ่งดำเนินการตามวิสัยทัศน์ในการมุ่งแสวงหาผลกำไร ทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่หยุดยั้งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิต ทั้งยังคงมองหาโอกาส และมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของทีซีเอ็มซีกล่าวทิ้งท้าย