TCMA เร่งเครื่องสร้างต้นแบบ “เมืองคาร์บอนต่ำ” ผุด “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์” หาคำตอบให้ประเทศไทย

0
525

สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เร่งขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจก เดินหน้าความร่วมมือภาครัฐและเอกชน จับมือจังหวัดสระบุรี พร้อม 21 หน่วยงาน ด้วยการสนับสนุนจาก 7 กระทรวง ประกาศเจตนารมณ์ “PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City” สร้างจังหวัดต้นแบบ “สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ”

จากการที่ประเทศไทยร่วมกับประชาคมโลกขับเคลื่อนการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกภายในสิ้นศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยในการประชุม COP 26 ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงยกระดับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 ในปี พ.ศ.2573 พร้อมทั้งมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ.2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี พ.ศ.2608

๐ ประกาศเจตนารมณ์ร่วม อีกก้าวสำคัญ
ในทิศทางเดียวกัน สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของไทยทุกราย มีการจัดทำ “แผนที่นำทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตของไทยมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ปี พ.ศ.2593” หรือ ”Thailand 2050 NET ZERO Cement & Concrete Roadmap”

เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด TCMA ร่วมกับจังหวัดสระบุรี พร้อมด้วย 21 หน่วยงาน โดยการสนับสนุนของ 7 กระทรวง ประกาศเจตนารมณ์ “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) เพื่อพัฒนาจังหวัดต้นแบบ-สระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ หรือ PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City”

“สระบุรี” จังหวัดในภาคกลางของไทย ห่างจากเมืองหลวงกรุงเทพมหานครเพียง 100 กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เป็นแหล่งผลิตปูนซีเมนต์อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายยกระดับการพัฒนาจังหวัดให้เป็น “เมืองอุตสาหกรรมสีเขียวอัจฉริยะ สังคมแห่งคุณภาพชีวิต” ด้วยการพัฒนาจังหวัดแบบองค์รวม การใช้แนวทางเศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อมุ่งสู่การสร้างสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและประชาคมโลก จึงเกิดความร่วมมือดังกล่าว

๐ เดินหน้าตาม “Thailand NDC Roadmap” ครอบคลุม 5 ด้านสำคัญ
ดร. ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์-
เมืองคาร์บอนต่ำ” หรือ “PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City” เป็นการทำงานในรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่จำลองจังหวัดสระบุรีให้เป็นเสมือนตัวแทนประเทศไทย เป็นต้นแบบแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามกรอบความร่วมมือในแต่ละสาขา ซึ่งสอดคล้องกับ “Thailand NDC Roadmap” ครอบคลุมทั้ง 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านพลังงาน (Energy) ด้านกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use : IPPU) ด้านการจัดการของเสีย (Waste) ด้านการเกษตร (Agriculture) และด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use, Land-Use Change and Forestry : LULUCF)

๐ จังหวัดต้นแบบ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์-เมืองคาร์บอนต่ำ”
เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ภายหลังการประกาศเจตนารมณ์ จึงเริ่มดำเนินการโครงการตัวอย่าง เช่น “โครงการพลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฟฟ้า” ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งโซลาร์รูฟท็อบ (Solar Rooftop) โซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) และโซลาร์ลอยน้ำ (Solar Floating) สิ่งที่จะได้คือ การใช้พลังงานสะอาดเพื่อทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าแบบเดิมจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการลดลงด้วย “โครงการปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นพืชพลังงาน” เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดให้อุตสาหกรรมต่างๆ เป็นการสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น จากการใช้พื้นที่ให้มีมูลค่าเพิ่มมากกว่าเดิม “โครงการทำนาแบบใช้น้ำน้อย” เพื่อไม่ให้มีซังตอข้าวเน่าที่ปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก “โครงการจัดการขยะเพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นพลังงานทางเลือก (Alternative Fuels: AF) และเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF)” และ “โครงการศึกษาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน” ในจังหวัดสระบุรี นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ด้วยการดูดซับ (Capture) ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ (Carbon Capture Utilization: CCU) หรือกักเก็บอย่างถาวรใต้พื้นดิน (Carbon Capture Storage: CCS) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการลักษณะนี้ให้สำเร็จ ต้องการความร่วมมือและสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกันดำเนินการ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องของหน่วยงานต่างๆ อาจมีกฎระเบียบที่ต้องแก้ไขเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ เช่น เรื่องโซลาร์ลอยน้ำ พื้นที่อาจดูแลโดยกรมธนารักษ์ แต่แหล่งน้ำดูแลโดยกรมชลประทาน เป็นต้น การมีโครงการต้นแบบเหล่านี้มากๆ จะเป็นตัวอย่าง จะทำให้เห็นแนวทางดำเนินการ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เรื่องใดทำได้จะนำไปขยายผลสู่จังหวัดอื่น เรื่องใดทำไม่ได้ต้องหาแนวทางแก้ไขหรือทางออกที่ดีต่อไป เช่น การเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้กฎระเบียบให้เหมาะสม ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น หรือหน่วยงานกลางของรัฐ

๐ ภาครัฐ-เอกชน สานพลังขับเคลื่อน
นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า “จังหวัดสระบุรีให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดมาร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินการ โดยเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ได้ร่วมกันส่งเสริมการใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งเป็นปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ในทุกงานก่อสร้างของจังหวัด สำหรับวันนี้เป็นการขยายครอบคลุมให้กว้างยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือของ 23 หน่วยงาน ระยะเวลาดำเนินการช่วงแรก ระหว่างปี 2566-2569 ผ่านโครงการต้นแบบต่างๆ ทั้งการผลิตปูนลดโลกร้อน ปลูกต้นไม้พลังงานทดแทน มีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ส่งเสริมการทำนาน้ำน้อย หวังว่า จะบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งใจกันไว้ เพื่อประโยชน์ของชาวจังหวัดสระบุรี และสามารถเป็นจังหวัดต้นแบบการลดคาร์บอน และขยายผลไปยังจังหวัดอื่น”

ดร. ชนะ นายก TCMA กล่าวย้ำตอนท้ายว่า “ความร่วมมือพัฒนาจังหวัดต้นแบบ-สระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ หรือ PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City” จะได้ผลลัพธ์แบบ win-win-win เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย สมาชิกทุกรายของ TCMA มีความตั้งใจมาก และเป็นนโยบายหลักของสมาคมฯ ที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้วยการนำกรณีศึกษาเป็นโครงการที่ภาครัฐสามารถนำไปพูดคุยระหว่างรัฐต่อรัฐ และเพื่อเชื่อมโยงแหล่งทุนสนับสนุนต่างๆ ที่เรียกว่า Green Fund เข้ามาในประเทศไทย เพราะในเวทีระดับโลกมีทุนสนับสนุนจากประเทศที่พัฒนาแล้วให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาให้ดำเนินการไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จะเห็นว่า TCMA ซึ่งเป็นสมาคมความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทย พร้อมทำงานกับภาครัฐทุกระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก รวมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชนและทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องจริงจัง เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน”

น.อ.ศ.ดร.ธนากร พีระพันธุ์ นายกสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การผลักดันเรื่องการปล่อย CO2 ดำเนินการกับ TCMA มาเป็นเวลา 5 ปี ผลักดันในระดับประเทศ กระทรวง กรม กอง หันมาใช้ปูนลดโลกร้อน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม วันนี้ PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City เป็นความร่วมมือในระดับจังหวัด มีความสำคัญ เพราะเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ที่นำแนวคิด ร่วมมือร่วมใจ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่เพียงเรื่องปูนซีเมนต์ แต่รวมถึงการใช้พลังงาน และลดการใช้ขยะ การใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์ นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สมาคมฯ ผลักดันด้วยการให้ความรู้เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ และปลูกฝังให้รักสิ่งแวดล้อม ทั้งในภาคการศึกษาและวิชาชีพ รวมทั้งผลักดันในภาคประเทศด้วยการออกมาตรฐานคอนกรีตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

ดร.กิตติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “สอวช. มีบทบาทและมีเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศไทย 3 เรื่อง คือ ทำให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น ความเจริญถูกกระจายในพื้นที่ และไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 สอวช. มีกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุน การนำนวัตกรรมไปพัฒนาเมืองในระดับพื้นที่และอุตสาหกรรม การใช้เทคโนโลยีติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทางด้านการเกษตร การเพาะปลูก ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ความร่วมมือในครั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับ เน้นที่ประชาชนและประเทศเป็นหลัก ในระดับประเทศ ทำให้ประเทศไทยแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น ส่วนภาคประชาชน ในระดับพื้นที่ได้ประโยชน์จากการบริหารจัดการผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ สำหรับสระบุรี ในภาคอุตสาหกรรม จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจก และปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด”

นายปริญญา คุ้มสระพรหม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยปลัดกระทรวงฯ กำชับให้ทุกจังหวัดจัดตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จังหวัดสระบุรี เป็นเมืองอุตสาหกรรม โดยมีการสำรวจในปี 2560 มีการปล่อยคาร์บอน 27 ล้านตัน CO2 โดย 17 ล้านตัน CO2 มาจากภาคอุตสาหกรรม จึงมีเป้าหมายในปี 2030 ต้องลดให้ได้ 40% โดยลดพลังงานจากถ่านหิน โดย 7 กระทรวงและทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน จังหวัดสระบุรี จะเป็นจังหวัดแรก ที่เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชนที่สร้างการตะหนักรู้ รับรู้ร่วมกันในการร่วมมือร่วมใจเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นายนพดล ชีวะอิสระกุล อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า “การผลิตปูนซีเมนต์ เป็นอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดสระบุรี ปัจจุบันมีการผลิตปูนคาร์บอนต่ำ โดยใช้ปูนลดโลกร้อน อีกทั้งยังมีแนวคิด BCG ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดความสมดุลกับสิ่งแวดล้อม สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย”