TCMA ผนึก วสท. แสดงพลังความพร้อมขับเคลื่อนสู้วิกฤตโลกร้อน ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2565

0
908

ในภาวะที่โลกร้อนขึ้นทุกวันจนทำให้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายและรุนแรง ตัวการสำคัญที่ทำให้โลกร้อน คือ ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ที่เกิดจากกิจกรรมและการกระทำที่มนุษย์เราสร้างขึ้น ดังนั้น การแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนระดับโลก จึงต้องแก้ที่ต้นเหตุ นั่นคือ ทุกคนต้องหันมาช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจกในทุก ๆ กิจกรรมเท่าที่จะทำได้ โดยต้องดำเนินการตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับประเทศ และระดับประชาคมโลก

นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า TCMA ร่วมเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนสู้วิกฤตโลกร้อน ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2565 ชูแนวคิด “Together for Our World ผนึกกำลังขับเคลื่อนลดโลกร้อน…ลดก๊าซเรือนกระจก” มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2050 แก้วิกฤตโลกร้อนอย่างยั่งยืน โชว์นวัตกรรม “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องเพลนารี่ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ภายในงาน จะมีการเสวนาแสดงพลังความพร้อมในการขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจก ด้วยปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก และแผนงานที่ภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ร่วมกันเดินหน้าผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง ในวันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2565 เวลา 15.00 น. ณ เวทีกลาง เพื่อพลิกโฉมก่อสร้างไทย ด้วยปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ Thailand’s New Era of Low Carbon Cement ในปี 2567 นอกจากนี้ ยังนำเสนอความก้าวหน้าขับเคลื่อนดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมของภาคีร่วมดำเนินการทุกภาคส่วน ที่คูหานิทรรศการ TCMA หมายเลข 40

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย และเมื่อรวมกับอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เกี่ยวเนื่องด้วยแล้วจะเป็นสัดส่วนถึง 7% ของ GDP ของประเทศ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้งานปูนซีเมนต์ในประเทศ ประมาณ 30 – 35 ล้านตัน/ ปี ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้านำมาใช้พัฒนาวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีมาตรฐาน มีความคงทน และที่สำคัญช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราคุ้นเคยกับการใช้ปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับเรา ทั้งอาคาร ที่อยู่อาศัย ถนน สะพาน รถไฟฟ้า อ่างเก็บน้ำ และอื่นๆ อีกมากมาย จากการใช้งานปูนซีเมนต์ในปริมาณ
ที่มากขึ้นในแต่ละปี ในขณะที่กระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ชนิดเดิม (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์) ไม่สามารถตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลกได้ จึงนำไปสู่ความมุ่งมั่นของ TCMA ในการส่งเสริมให้สมาชิกวิจัยและพัฒนาผลิตปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย กระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน และช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เรียกว่า “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” มอก. 2594 ซึ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 40 กิโลกรัมต่อตันซีเมนต์ เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์ชนิดเดิม จึงเรียกให้เข้าใจอย่างง่ายว่า ปูนลดโลกร้อน และขณะนี้ได้เข้ามาสู่การใช้งานแทนปูนซีเมนต์ชนิดเดิม ทั้งนี้ TCMA ยังคงเดินหน้าตามแผนงาน เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นการใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนี้จะบรรลุได้ ต้องการความร่วมมือและลงมือทำอย่างจริงจังของทุกภาคส่วน เพื่อนำประเทศไทยปลี่ยนผ่านเข้าสู่ Thailand’s New Era of Low Carbon Cement ในปี 2567” นายชนะ กล่าว

นอกจากการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2565 แล้ว TCMA ยังร่วมขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในเวทีต่างประเทศด้วย โดยอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นอุตสาหกรรมแรกของไทยที่จัดทำ Thailand Net Zero Cement & Concrete Roadmap 2050 โดยการสนับสนุนของ Global Cement & Concrete Association (GCCA) และนำเสนอในการประชุม COP 27 ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองชาร์ม เอล ชีค ประเทศอียิปต์

ขอเชิญร่วมแสดงพลังขับเคลื่อนลดโลกร้อน Change for Good ไปพร้อมกับ TCMA ในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2565 งานแสดงเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมและงานสัมมนาด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดแห่งปี จัดโดยวิศวกรรมสถาน-แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องเพลนารี 1-3 ศูนย์การประชุม-แห่งชาติสิริกิติ์