สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) นำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทย โชว์ความก้าวหน้าลดก๊าซเรือนกระจกจากปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ในการประชุมผู้ผลิตซีเมนต์และคอนกรีตระดับโลก GCCA CEO Gathering and Leaders Conference 2023 ที่เมืองซูริค สวิสเซอร์แลนด์ พร้อมชูโมเดล Public Private Partnership เชื่อมโยงความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน เดินหน้า ‘PPP-สระบุรี แซนด์บ็อกซ์’ เป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ ตามแนวทาง BCG และสนับสนุนไทยบรรลุ Net Zero
ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประชุม GCCA CEO Gathering and Leaders Conference 2023 ครั้งล่าสุด จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Our future industry delivering and prospering through the net zero transition’ ที่เมืองซูริค สวิสเซอร์แลนด์ เมื่อเร็วๆนี้ TCMA นำความก้าวหน้าลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap เสนอแก่ผู้นำผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทั่วโลก โดยอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยเป็นประเทศแรกที่มีโรดแมป และขับเคลื่อนจากนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
การประชุมได้รับเกียรติจาก Mr. António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวผ่านวิดีโอทางไกลแก่สมาชิก GCCA ซึ่งครอบคลุมผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำทั่วโลกกว่า 80% โดยย้ำถึงบทบาทสำคัญของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในการเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดย 3 ใน 4 ของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อ มนุษยชาติ ยังรอดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2050 และเรียกร้องให้ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทั่วโลก ตระหนักถึงความสำคัญของการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และเร่งลงมือดำเนินการร่วมกันตามเป้าหมาย GCCA 2050 Cement and Concrete Industry Roadmap for Net Zero ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยสหประชาชาติพร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เร่งการเปลี่ยนผ่านนี้
TCMA เป็นสมาชิกของ Global Cement and Concrete Association (GCCA) และทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ในการประชุมครั้งนี้ TCMA ได้นำความก้าวหน้าจากโรดแมปไปสู่การปฏิบัติ มาแลกเปลี่ยนกับผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทั่วโลกให้ทราบ ซึ่งเป็นความร่วมมือทำงานกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ อุตสาหกรรม เอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงระดับจังหวัดพื้นที่ เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ กระตุ้นการใช้งานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก หรือปูนลดโลกร้อนให้มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap เป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมได้ 30.3 ล้านตัน CO2 ภายในปี 2050
“ในการประชุมครั้งนี้ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยได้รับเสียงชื่นชมจากสมาชิก GCCA ถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในความก้าวหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการส่งเสริมใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก
แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และจะเข้าสู่ New Era of Low Carbon Cement ในวันที่ 1 มกราคม 2567 ขณะเดียวกัน ได้นำเสนอความคิดริเริ่มใหม่ นำโมเดล Public Private Partnership มาใช้ โดยจำลองจังหวัดสระบุรีเป็นเสมือนตัวแทนประเทศไทย เรียกว่า ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ เพื่อเป็น use case เป็นโมเดลลดก๊าซเรือนกระจกในแต่ละสาขาตาม Thailand NDC เป็นการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม กับภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคเอกชน ภาคสังคม และกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในจังหวัดสระบุรี และส่งเสริมขยายผลไปสู่จังหวัดอื่น” ดร.ชนะ กล่าว
จากความมุ่งมั่นที่ TCMA ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีนโยบายการดำเนินงานที่ชัดเจน และการสนับสนุนร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จนทำให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความก้าวหน้า ส่งผลให้ GCCAมีความมั่นใจและเชื่อมั่นศักยภาพของประเทศไทย จึงมีมติให้การประชุมครั้งต่อไป GCCA CEO Gathering and Leaders Conference 2024 จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2567
“TCMA ยินดียิ่งที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ การประชุม GCCA CEO Gathering and Leaders Conference 2024 จะเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของผู้บริหารระดับสูง และสมาชิก GCCA ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทั่วโลกกว่า 200 คน ที่กรุงเทพฯ เรียกได้ว่า เป็นการประชุมสุดยอดของผู้ผลิตปูนซีเมนต์จากทั่วโลกด้านลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นวาระสำคัญร่วมกันของโลก ทั้งนี้ ต้องขอบคุณภาครัฐ สมาชิก TCMA และทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องที่ร่วมกันดำเนินงานจนเป็นที่ยอมรับ และได้รับความไว้วางใจสำหรับการประชุมระดับโลกที่จะเกิดขึ้นในกลางปีหน้าที่กรุงเทพฯ” ดร.ชนะ กล่าวทิ้งท้าย