TCMA ชง 3 ข้อเสนอ ขอแรงหนุนภาครัฐ ขับเคลื่อนเป้าหมายลดคาร์บอน

0
12

‘ดร.ชนะ ภูมี’ นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) นำคณะผู้บริหาร เข้าพบ รมว.อุตสาหกรรม รายงานความก้าวหน้าลดคาร์บอน ชงขอแรงหนุน 3 เรื่อง ยกระดับ มอก. 2594 ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นมาตรฐานบังคับ ทำเหมืองในเขตพื้นที่รอยต่อประทานบัตรตามมาตรา 60 สนับสนุนทำเหมืองแหล่งวัตถุดิบ Calcined Clay ช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่การผลิตอย่างยั่งยืน เพิ่มความสามารถการแข่งขันในเวทีโลก และพาไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คิดเป็น 7.7% ของจีดีพี (GDP) และอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนนำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์สู่การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 ตามแนวทาง Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap และสนับสนุนเป้าหมาย Thailand NDC Roadmap ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

ในโอกาส นำคณะผู้บริหารของ TCMA เข้าพบหารือ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการ-กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะ

TCMA ได้รายงานความก้าวหน้าลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม 1) การปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ มาตรฐาน มอก. 2594 และส่งเสริมการใช้งานทุกโครงการก่อสร้างทั่วประเทศ ทำให้ช่วงปี 2566-2567 ลดคาร์บอนได้กว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ 2) การยกระดับทำเหมืองสู่ Smart and Green Mining และการใช้พื้นที่ขุมเหมืองเก่าเป็นแหล่งน้ำสำหรับชุมชน 3) การใช้ประโยชน์อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์กำจัดกากอุตสาหกรรม Co-Processing in Cement Kilns ภายใต้แนวคิดการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Concept) รวมไปถึง 4) ความก้าวหน้าโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2570 และเป็นกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแรกของไทยที่เข้าร่วมโครงการ Transitioning Industrial Clusters ของ World Economic Forum

การลดคาร์บอนเป็นเรื่องสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นปัจจัยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างโอกาสการเข้าถึงนวัตกรรมสมัยใหม่ที่จะสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรม

TCMA จึงขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม ใน 3 เรื่อง

  1. การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มอก. 2594 เป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้า พัฒนากระบวนการผลิตสินค้าที่ลดการปล่อยคาร์บอน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกัน
  2. การทำเหมืองในเขตพื้นที่รอยต่อประทานบัตร ตามมาตรา 60 ของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 เพื่อประโยชน์การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามนโยบายภาครัฐ
  3. การส่งเสริมแหล่งวัตถุดิบ Calcined Clay สำหรับปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ เพื่อภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสนับสนุนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ในสาขา IPPU “TCMA ขอขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานในสังกัด ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ลดคาร์บอน ตามแนวทาง Thailand 2050 Net Zero Cement & Concrete Roadmap ส่งผลให้มีความก้าวหน้าดำเนินงานมาเป็นลำดับ สำหรับ 3 ข้อเสนอนั้น ท่าน รมว. อุตสาหกรรมรับไปพิจารณาหาแนวทาง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมยินดีให้การสนับสนุน และพร้อมร่วมมือกับ TCMA ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศไทยให้เป็นรูปธรรม” ดร.ชนะ กล่าว

TCMA #สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย #CementActionToNetZero #hydrauliccement #ไฮดรอลิกซีเมนต์ #ปูนลดโลกร้อน