“TCMA จับมือสระบุรี โชว์ 1 ปี ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย”

0
17

TCMA นำผู้ผลิตปูนซีเมนต์ ผนึกกำลังจังหวัดสระบุรี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โชว์ความก้าวหน้า 1 ปี “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” รวมพลังสร้างเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว การสร้างมูลค่าเพิ่มจากคาร์บอน ด้วยแรงหนุนจากภาคีพันธมิตร เชื่อมโยงความร่วมมือต่างประเทศด้านเทคโนโลยี และแหล่งทุนสีเขียว สู่เป้าหมายเมืองคาร์บอนต่ำ

“สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” การทำงานเชิงพื้นที่ โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม (Public-Private-People Partnership: PPP) นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี มี 3 ภาคีหลัก-จังหวัดสระบุรี สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาจังหวัดสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนตํ่า “SARABURI SANDBOX LOW CARBON CITY” เชื่อมโยงความร่วมมือองค์กรหลายภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านโครงการต้นแบบ

กว่าหนึ่งปีของการขับเคลื่อนนับจากการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2566 นำมาซึ่งความก้าวหน้าตามลำดับ และยังคงมีเป้าหมายที่ต้องเดินหน้ากันต่อใน 5 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด 2. การผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียว 3. การสร้างมูลค่าให้วัสดุเหลือใช้ 4. การส่งเสริมด้านเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ และ 5. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยความร่วมมือสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และแสวงหาแหล่งทุนสีเขียว เพื่อจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 5 ล้านตันคาร์บอน-ไดออกไซต์เทียบเท่าภายในปี พ.ศ. 2570

นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เป็นความร่วมมือขับเคลื่อนการทำงานจากหลายภาคส่วน มีหลักสำคัญในการทำงานร่วมกัน 4 ข้อ ได้แก่ 1. ทำทันที

  1. ไม่มีอะไรถูก ไม่มีอะไรผิด สามารถปรับการทำงานได้ตลอดเวลา 3. เห็นต่างได้ แต่ห้ามขัดแย้ง หาข้อสรุปและแนวทางที่เหมาะสมร่วมกัน 4. ยิ้ม เพื่อเกิดความสนุกในการทำงานร่วมกัน โดยจังหวัดสระบุรีพร้อมเป็นจังหวัดนำร่องในการทดลองใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม หรือเป็นพื้นที่ในการศึกษาวิจัยของหน่วยงานต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้จากการทดลองมาปรับใช้ในพื้นที่ และขยายผลไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ เพื่อให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้ รวมถึงประชาชนและชุมชนในพื้นที่จังหวัดสระบุรี จะต้องได้รับประโยชน์ มีกิน มีใช้ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น การดำเนินงานในระยะต่อไปจะสำเร็จลุล่วงได้ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐ ที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากทุกภาคส่วนมีเป้าหมาย และหลักในการทำงานร่วมกัน จะช่วยให้สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เกิดผลสัมฤทธิ์ในการทำงาน และสามารถเป็นต้นแบบให้จังหวัดและหน่วยงานอื่นๆ นำไปเป็นแนวทางในการทำงานในพื้นที่ได้ในอนาคต รวมทั้งสามารถตอบสนองแผนงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้ตามเป้าหมาย

ด้าน ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า TCMA เป็นความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของประเทศไทย และเป็นอุตสาหกรรมภาคการผลิตหลักของจังหวัดสระบุรี จึงสามารถมีส่วนสนับสนุนสำคัญต่อการดำเนินงานสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ นอกจากนี้ TCMA อยู่ระหว่างการเดินหน้านำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์สู่การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี พ.ศ. 2593 ตามแผนที่นำทาง Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap 2050 จึงมีความตั้งใจ และมีความพร้อมในการร่วมลงมือทำให้สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทยนี้ให้เกิดขึ้น โดยทำงานขับเคลื่อนในหลายด้าน ทั้งในส่วนของกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ การสนับสนุนความร่วมมือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และการเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อแสวงหาแหล่งทุนสีเขียว (Green Fund) เข้ามาสนับสนุนดำเนินงาน

ระยะ 1 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุม 1) ด้านกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Process and Product Use: IPPU) การวิจัยพัฒนาใช้วัสดุทดแทนปูนเม็ดเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต และการใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อให้ปูนซีเมนต์มีคุณสมบัติดีขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการพัฒนาความรู้ การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การส่งเสริมการลงทุน รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนข้อกำหนด มาตรฐานการใช้งานของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และการส่งเสริมใช้งานปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกแทนปูนซีเมนต์ชนิดเดิม ทำให้ระหว่างปี พ.ศ. 2566-2567 สามารถช่วยลดคาร์บอนได้กว่า 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ 2) การยกระดับพัฒนาเหมืองแร่สีเขียว โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Green and Smart Mining) เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน (Land Rehabilitation Featured in Sustainability) 3) การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ด้วยการนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพื่อผลิตไฟฟ้า (Waste Heat Recovery: WHR) การเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) และเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) ทดแทนถ่านหิน ด้วยกระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-Processing in Cement Kiln) สามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ประมาณ 9 – 12 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาของภาคเกษตร และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร รวมทั้งทำให้การจัดการขยะของจังหวัดสระบุรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Landfill) 4) การสร้างมูลค่าเพิ่มจากคาร์บอน ด้วยการวิจัยใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (Carbon Utilization) เช่น เมทานอล

นอกจากนี้ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ยังเป็นคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย ที่ได้รับตอบรับเข้าร่วมโครงการ Transitioning Industrial Clusters ขององค์กรระดับโลก World Economic Forum ด้วย
“แม้ปัจจุบันการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ มีความคืบหน้าไปมากจากจุดเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ให้ไปสู่เป้าหมายการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำได้สำเร็จนั้น ต้องใช้นวัตกรรมและรูปแบบการทำงานข้ามภาคส่วน ความเข้มแข็งของเจ้าของพื้นที่ และผู้นำของแต่ละภาคส่วนที่มีบทบาทแตกต่างกัน รวมทั้งการขอรับการสนับสนุนจากระดับนานาชาติที่มากพอให้เกิดการสร้างความเปลี่ยนแปลง และเพิ่มโอกาสของการได้รับการสนับสนุน การเดินหน้าต่อจากนี้ ยังคงต้องการแรงสนับสนุนอีกมาก ทั้งความร่วมมือจากหลายส่วนงานในประเทศ และเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ อาทิ Global Cement and Concrete Association (GCCA), United Nations Industrial Development Organization (UNIDO), GIZ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ ที่พร้อมเข้ามาร่วมสนับสนุนดำเนินงาน ทั้งด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) และ Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของภาครัฐ รวมถึงการสนับสนุนข้อมูล เทคโนโลยี และแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเกิดขึ้นได้” ดร. ชนะ กล่าว

TCMA

สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย

CementActionToNetZero

hydrauliccement

ไฮดรอลิกซีเมนต์

lowcarboncement

ปูนลดโลกร้อน

TCMAenergytransition

TCMAเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

TCMAgreenindustry

TCMAอุตสาหกรรมสีเขียว

SARABURISANDBOX

สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์

สระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ

ทีมสระบุรีแซนด์บ็อกซ์

TeamSaraburiSandbox


งาน “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ รวมพลังสร้างเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย” จัดขึ้นในวันที่ 22 มกราคม 2568 ณ อาคารรณนภากาศ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การร่วมกันถอดบทเรียน 1 ปีที่ผ่านมา และการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำมาวางแผนเดินหน้าระยะต่อไปให้บรรลุเป้าหมายสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ มีผู้เข้าร่วมงานจากภาคส่วนต่างๆ กว่า 700 คน