TCMA ผนึกภาครัฐ ผสานความร่วมมือ UNIDO คิกออฟกรีนฟันด์รัฐบาลแคนาดา เดินหน้าโครงการนำร่องลดคาร์บอนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีต สู่สนามทดลอง ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ พร้อมเป็นต้นแบบดำเนินงานลดคาร์บอนถ่ายทอดสู่ประเทศในภูมิภาค
ดร. ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมซีเมนต์เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 7.7 ของ GDP ของประเทศไทยที่มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ เพื่อพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน โครงการเมกะโปรเจกต์ โรงงานอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และที่พักอาศัย
TCMA ประกาศ Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap ระหว่างการประชุม COP27 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โดยสมาชิกของ TCMA ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทุกราย ได้ร่วมกันขับเคลื่อนลดคาร์บอนในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ปี 2050
ปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการทำงานอย่างเข้มข้นเชิงพื้นที่ในจังหวัดสระบุรี
ซึ่งเป็นแหล่งผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ภายใต้สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย ในรูปแบบความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคม (Public-Private-People Partnership: PPP) ผ่านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสีเขียว มุ่งเน้นเทคโนโลยี นวัตกรรม เชื่อมโยงกลไกระดับนานาชาติ และเชื่อมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ให้เกิดการทำงานร่วมกัน การมีแหล่งทุนสีเขียว(Green Fund) เข้ามาสนับสนุนเป็นส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 2050 อีกทั้งเป็นการสนับสนุนเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนของประเทศตาม Thailand NDC Roadmap
โครงการนำร่องลดคาร์บอนในปีแรกได้เริ่มดำเนินการ สะท้อนถึงการเร่งลงมือทำร่วมกันของทุกภาคส่วน การผนึกความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อไปสู่การพัฒนาที่สามารถใช้ได้จริง ภายใต้การทำงานที่มีนโยบายดำเนินงานอย่างชัดเจน การมีแหล่งเงินทุนกรีนฟันด์สนับสนุน การเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย และกลไกการทำงานภาครัฐที่ร่วมผลักดันให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้า
“TCMA ขอขอบคุณภาครัฐไทยและแคนาดา ที่เห็นถึงการทำงานอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทย การสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐยังเป็นส่วนสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จ
การมีแหล่งทุนสีเขียว โดย Environment and Climate Change Canada (ECCC) เข้ามาสนับสนุน
โดยองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization: UNIDO) เป็นหน่วยบริหารโครงการ รวมถึง GCCA องค์กรซีเมนต์และคอนกรีตระดับโลก
ที่ช่วยสนับสนุนเชื่อมโยงความร่วมมือ ผลจากการดำเนินโครงการนำร่อง นอกจากจะช่วยให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตของไทยมีส่วนสนับสนุนเป้าหมายประเทศลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว UNIDO สามารถใช้โครงการนำร่องนี้ เป็นต้นแบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงประเทศอาเซียน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค” ดร. ชนะ กล่าว