นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต มอบหมายให้ นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ นายแพทย์โกศล วราอัศวปติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ พร้อม
ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : ทีม MCATT) ร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ มอบถุงยังชีพและยารักษาโรคให้แก่ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่บ้านปากอูน หมู่ที่ 4 ตำบลศรีสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม
เพื่อเยี่ยมเสริมพลังใจสำหรับผู้ป่วย ญาติ และประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ นายแพทย์จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถาณการณ์อุทกภัยประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่บ้านปากอูน หมู่ที่ 4 ตำบลศรีสงคราม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เพื่อเยี่ยมเสริมพลังใจสำหรับผู้ป่วย ญาติ และประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ จำนวน 40 ราย เป็นผู้ป่วยติดเตียง 2 ราย ผู้พิการ 3 ราย
ซึ่งได้รับการดูแลโดยโรงพยาบาลศรีสงครามอย่างใกล้ชิด และมีผู้สูงอายุ 8 ราย ในจำนวนนี้พบว่ามีภาวะเครียดเล็กน้อยถึงปานกลาง 11 ราย และมีภาวะซึมเศร้า 1 ราย ทางทีมจึงได้มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการความเครียดเบื้องต้น รวมทั้งพูดคุยให้กำลังใจเพื่อให้ผ่อนคลายความวิตกกังวล พร้อมทั้งประสาน ทีม MCATT ในพื้นที่ติดตามและดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความร่วมมือจาก โรงพยาบาลศรีสงคราม สำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีสงคราม รพ.สต.ท่าบ่อรพ.สต.ปากยาม และเจ้าหน้าที่ อสม. เพื่อเข้าช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกมิติตามความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้ได้รับการดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจตั้งเป้าว่าจะต้องได้รับการดุแลจิตใจทันที เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเดิม ต้องได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ขาดยา ป้องกันอาการทางจิตที่จะกำเริบได้ นายแพทย์โกศล วราอัศวปติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิต ได้มีการจัดทำแผนการดำเนินงานไว้สี่ระยะ 1. ระยะเตรียมการ มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน พร้อมจัดตั้งทีมเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการ และมีการบริหารทีมโลจิสติกส์เพื่อเตรียมถุงยังชีพยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น พร้อมสนับสนุน
ทีมเยียวยาจิตใจของพื้นที่ในการรับมือและดูแลจิตใจเบื้องต้น 2. ระยะวิกฤตและฉุกเฉิน (ตั้งแต่เกิดเหตุ -2 สัปดาห์) จัดทีมในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อร่วมคัดกรองและสำรวจภาวะความเครียดของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ การปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid : PFA) การดูแลสุขภาพจิตตามระดับความเสี่ยงในการประสบเหตุการณ์วิกฤต การเฝ้าระวังผู้ป่วยจิตเวชไม่ให้ขาดยา และจัดส่งยาในพื้นที่ภัยพิบัติ รวมทั้งการสื่อสารเพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตให้กับประชาชนเพื่อให้เกิดตระหนักแต่ไม่ตระหนก 3. ระยะหลังได้รับผลกระทบ (2 สัปดาห์ – 3 เดือน) จะเป็นการติดตามกลุ่มเสี่ยงเดิมจากระยะวิกฤตฉุกเฉิน การประเมินสุขภาพจิตซ้ำในรายเก่า และค้นหากลุ่มเสี่ยงรายใหม่ที่อาจเกิดปัญหาสุขภาพจิตภายหลัง และ การเยียวยาจิตใจกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในระยะกลาง – ยาว โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือ 4. ระยะฟื้นฟู (หลังเกิดเหตุการณ์ 3 เดือน) โดยในระยะนี้จะเป็นการติดตามประเมินกลุ่มเสี่ยงเดิมจนหมดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต การเฝ้าระวังโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) รวมทั้งการส่งเสริมความเข้มแข็งทางใจ และวัคซีนใจชุมชน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ควรติดตามข่าวสารอย่างเหมาะสมจากสื่อหรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ อาทิ สถานีโทรทัศน์ส่วนกลาง หรือ เพจเฟสบุ๊คของจังหวัด/อำเภอ หรือป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ เน้นย้ำ ผู้ป่วยเดิมควรต้องสำรองยาไว้ติดตัวเสมอ เพื่อป้องกันการขาดยา สังเกตอาการผิดปกติ หากต้องการขอความช่วยเหลือ แจ้งได้ที่ สายด่วน ปภ. (ป้องกันและบรรเทา
สาธารณภัย) โทร.1784 หรือ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง