SME D Bank ผนึก DITP และ ธรรมศาสตร์ บูรณาการติดปีก SMEs ไทย ติดอาวุธความรู้คู่เงินทุน หนุนก้าวไกลสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน

0
689

SME D Bank จับมือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมลงนาม MOU สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่กับส่งเสริมศักยภาพให้พร้อมก้าวสู่การค้าระหว่างประเทศ ผลักดันธุรกิจเติบโตยั่งยืน

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ร่วมกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การส่งเสริมแหล่งทุนและศักยภาพทางการค้าระหว่างประเทศแก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย เข้าถึงแหล่งเงินทุนและการส่งเสริมศักยภาพ สร้างโอกาสพาธุรกิจก้าวไกลสู่การค้าระหว่างประเทศ ผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัยกลไกการเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ประกอบการ SMEs ไทย ระหว่างหน่วยงานพันธมิตร เพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน รวมถึงเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการแต่ละรายอย่างไร้รอยต่อ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank มอบหมาย นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ เป็นตัวแทนธนาคาร เปิดเผยว่า SME D Bank ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาเอสเอ็มอีไทย พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ที่มีฐานข้อมูลกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เข้าถึงแหล่งทุน วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่กับร่วมมือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลทางวิชาการ รวมถึงการให้คำปรึกษา อีกทั้ง บูรณาการจัดกิจกรรมและบริการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ สามารถก้าวสู่ภาคการค้าระหว่างประเทศได้อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน เช่น อบรม สัมมนา กิจกรรมงานแสดงสินค้าในประเทศและต่างประเทศ และจับคู่ธุรกิจการค้า เป็นต้น

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานจะช่วยขับเคลื่อนและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยการบูรณาการกิจกรรมและบริการรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การฝึกอบรม/สัมมนาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการค้าระหว่างประเทศ กิจกรรมงานแสดงสินค้าในประเทศและต่างประเทศ กิจกรรมจัดคู่ธุรกิจการค้า จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ก้าวสู่ภาคการค้าระหว่างประเทศได้อย่างเข้มแข็ง อีกทั้ง เกิดการแลกเปลี่ยนทรัพยากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยีระหว่างหน่วยงาน ที่จะช่วยพัฒนากระบวนการทำงานและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกิจกรรมและบริการให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ได้อย่างสอดคล้องเหมาะสมกับคุณสมบัติและระดับศักยภาพของผู้ประกอบการแต่ละรายอย่างไรรอยต่อ

รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.วสิศ ลิ้มประเสริฐ วิทยาลัยสหวิทยาการ และดร.ถิรภาพ ฟักทอง คณะเศรษฐศาสตร์ ได้ดำเนินการวิจัยด้านการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเป็นการวางแผนธุรกิจและจัดอบรมเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการในการส่งออก รวมทั้งเป็นการให้คำปรึกษาแนะนำกิจกรรมสนับสนุนการส่งออกและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งในส่วนของการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลนั้น ทีมวิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากหลากหลายแหล่งเพื่อพัฒนาระบบบริการแนะนำธุรกิจ ได้แก่ ข้อมูลช่องทางตลาดต่างประเทศ ข้อมูลเทคโนโลยีการผลิต และข้อมูลแนวโน้มตลาดในปีหน้า

โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ด้วยการให้ผู้ประกอบการทราบถึงโอกาสในการเติบโต ตลอดจนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะที่เปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังช่วยลดความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจเนื่องจากสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของตลาด การวิจัยนี้จึงช่วยให้ธุรกิจจากทุกชุมชนมีความได้เปรียบในการแข่งขันและมีความพร้อมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่หลากหลาย อันนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจและมูลค่าการส่งออกของประเทศไทย