SME D Bank เผยความสำเร็จ เสริมแกร่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จำนวน 622 ราย แก้ปมต้นทุนสต๊อกจม ลดภาระธุรกิจกว่า 300 ล้านบาท และเพิ่มรายได้กว่า 270 ล้านบาท ผ่าน “โครงการอุดรอยรั่วเพิ่มรายได้ SME” ที่จัดต่อเนื่อง 9 ครั้ง ใน 9 จังหวัด ตั้งแต่เดือน มี.ค. ถึง พ.ย.2567 ที่ผ่านมา ต่อยอดขยายผลความสำเร็จ คัดหัวกะทิ 25 ราย เป็นต้นแบบปลุกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไปเดินตาม ดันธุรกิจเติบโตเข้มแข็งยั่งยืน

นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เผยว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย คือ ขาดความรู้ด้านบริหารจัดการสต๊อกสินค้า ทำให้เกิดต้นทุนธุรกิจสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น
อีกทั้ง ยังส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น SME D Bank ร่วมกับ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านบริหารสต๊อก จัด “โครงการอุดรอยรั่วเพิ่มรายได้ SME” อบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรเข้มข้น ในการบริหารสต๊อก เน้นนำไปใช้จริง เช่น หลักสูตรเทคนิคบริหารความสิ้นเปลืองและจุดรั่วไหลในองค์กร เพื่อควบคุมและตรวจสอบป้องกันการรั่วไหลในการดำเนินธุรกิจ และหลักสูตรเปลี่ยนสต๊อกให้เป็นสตางค์ แนะนำบริหารจัดการสต๊อกสินค้าและวัตถุดิบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น

โครงการดังกล่าว จัดต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา รวม 9 ครั้ง ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ เชียงราย ขอนแก่น กรุงเทพฯ แพร่ น่าน อุบลราชธานี ตรัง และนครราชสีมา มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าร่วมรวม 622 ราย ใน 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.ภาคการผลิต เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เครื่องประดับ 2.ภาคการค้า เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค และ 3.ภาคบริการ เช่น งานรับเหมาก่อสร้าง ร้านอาหาร เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ประกอบการที่ผ่านโครงการ สามารถนำแนวทางไปปรับใช้ในธุรกิจจนเกิดผลลัพธ์ ช่วยลดต้นทุนธุรกิจจากการบริหารสต๊อกสินค้าได้รวมกว่า 300 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการสต๊อกที่มีประสิทธิภาพ รวมกว่า 270 ล้านบาท

“ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย มักประสบปัญหาต้นทุนสต๊อกจม โครงการนี้ จึงเข้ามาปิดช่องว่าง ด้วยการเติมความรู้และแนะนำการใช้เทคโนโลยี เครื่องมือ ช่วยบริหารจัดการสต๊อกอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น บริษัท เค.จี.วัสดุก่อสร้าง จำกัด ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง จ.กระบี่ แม้จะมีระบบสต๊อกสินค้าอยู่แล้ว แต่ไม่เคยนำข้อมูลตัวเลขมาวิเคราะห์ ทำให้มีสินค้าที่ไม่ทำรายได้ค้างอยู่ในสต๊อกจำนวนมาก เมื่อมาเข้าโครงการนี้ ได้ทำการสำรวจความต้องการลูกค้า เพื่อกำหนดการสั่งผลิตให้สอดคล้องกับตลาด ช่วยให้ลดต้นทุนสินค้าคงคลังได้ถึง 200,000 บาท เป็นต้น” นายพิชิต กล่าว

นอกจากนั้น เพื่อต่อยอดความสำเร็จ และเป็นต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่นๆ ให้ความสำคัญกับการบริหารสต๊อก พร้อมเชิดชูเกียรติแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการที่นำแนวทางบริหารสต๊อกไปใช้ในธุรกิจอย่างโดดเด่น จำนวน 25 ราย ด้วยการคัดเลือกให้เป็น “SME D Champions 2024” ซึ่งจะได้รับใบประกาศนียบัตร พร้อมสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จาก SME D Bank และ ISMED เช่น การประชาสัมพันธ์ สิทธิประโยชน์เข้าร่วมกิจกรรมเสริมศักยภาพธุรกิจต่าง ๆ ฟรี อีกทั้ง ได้รับประโยชน์อีกมากมายจากแพลตฟอร์ม DX by SME D Bank และที่สำคัญ เข้าถึงแหล่งทุนจาก SME D Bank ที่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ช่วยเติมทุนเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการ
นายพิชิต กล่าวเสริมว่า SME D Bank พร้อมเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในทุกมิติ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน สามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาต่าง ๆ ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ผ่านแพลตฟอร์ม DX by SME D Bank (https://dx.smebank.co.th/) รวมถึง ติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น LINE Official Account : SME Development Bank , เว็บไซต์ www.smebank.co.th และสาขา SME D Bank ทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357