ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.86 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

0
347

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.86 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.99 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 34.77-35.03 บาทต่อดอลลาร์) โดยเป็นการเคลื่อนไหวไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ที่ทยอยอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นปัจจัยใหม่ๆ อาทิ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านอีกครั้ง ท่ามกลางมุมมองของบรรดาผู้เล่นในตลาดที่คงมองว่า บรรดาธนาคารกลางหลักต่างมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า ส่วนผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ล่าสุด ก็ยังสะท้อนว่า BOJ จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปในช่วงนี้

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) เพิ่มเติม หลังรายงานข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง Housing Starts ที่ออกมาดีกว่าคาด ยังช่วยให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะรอดพ้นจากความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็ยังคงมุมมองเดิมว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.59%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.36% หนุนโดยความหวังของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุด ชะลอตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.4% ตามคาด

ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดราว 6 ครั้ง หรือ -150bps ในปีหน้า ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวใกล้ระดับ 3.92% แม้ว่า บรรยากาศโดยรวมของตลาดการเงินสหรัฐฯ จะกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงก็ตาม ทั้งนี้ เรามองว่า มุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดอาจเสี่ยงที่จะเผชิญการปรับเปลี่ยนมุมมอง (Repricing) ได้ในระยะสั้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ ทว่า ภาพดังกล่าวก็อาจเปิดโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้เช่นกัน (ยังคงเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคาต่อไป)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ท่ามกลางบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวมและบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ยังคงแกว่งตัว sideway แม้ว่าในช่วงแรก เงินดอลลาร์จะได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จนใกล้ระดับ 145 เยนต่อดอลลาร์ ดังที่เราได้ประเมินไว้ หลัง BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นอย่างที่ตลาดคาดหวัง ทั้งนี้ โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงใกล้ระดับ 102.1 จุด (กรอบ 102-102.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า บรรยากาศในตลาดการเงินจะยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง แต่ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ก็ยังพอได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังว่า บรรดาธนาคารกลางหลักจะทยอยลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในปีหน้า อีกทั้งเงินดอลลาร์ก็กลับมาอ่อนค่าลง ทำให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ทั้งนี้การปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านดังกล่าวของราคาทองคำยังคงเผชิญแรงขายทำกำไรอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาท

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของทั้งธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB

ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ในเดือนธันวาคม ซึ่งหากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวขึ้น ดีกว่าคาด ก็จะยิ่งหนุนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน ทำให้มีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดได้บ้าง

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ 34.75-35.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเงินบาทก็ยังขาดปัจจัยใหม่ๆ ทั้งในฝั่งอ่อนค่า หรือ แข็งค่าที่ชัดเจน นอกจากนี้ จังหวะการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ก็เริ่มเผชิญแรงซื้อเงินดอลลาร์จากผู้เล่นในตลาดบางส่วน ทั้งในส่วนของผู้นำเข้า หรือ ผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่า) ทำให้โซน 34.75 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจยังเป็นแนวรับในช่วงนี้ ขณะเดียวกัน แม้ว่าเงินบาทจะมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังรับรู้ผลการประชุม BOJ ตามที่เราประเมินไว้ ทว่า เงินบาทก็ยังติดโซนแนวต้านแถว 35.00 บาทต่อดอลลาร์ จากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ รวมถึง โฟลว์ธุรกรรมขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออกบางส่วน

ทั้งนี้ เรามองว่า ควรจับตาความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ในวันนี้ เพราะหาก อัตราเงินเฟ้อ CPI อังกฤษ ชะลอลงกว่าคาด ก็จะยิ่งสะท้อนโอกาสที่ BOE อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีหน้า ซึ่งอาจกดดันให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) มีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง ขณะเดียวกัน หากภาพดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ก็จะยิ่งหนุนให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น และกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง

อนึ่ง เรามองว่า ควรจับตาทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิดเช่นกัน หลังราคาทองคำเริ่มแกว่งตัวในกรอบที่มีโซนแนวรับ-แนวต้านในระยะสั้นและพร้อมที่จะเลือกทิศทางในระยะถัดไป ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมทองคำยังคงส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้พอสมควรในช่วงนี้

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.75-35.00 บาท/ดอลลาร์