SCM ยกระดับอุตสาหกรรม Network Marketing ไทย สร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่เข้า SET

0
1908

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา SCM ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนหลักล้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางธุรกิจ โดย SCM นับเป็น 1 ในอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม Network Marketing ของประเทศไทย

 ปัจจุบันในธุรกิจนี้มีบริษัทฯ จดทะเบียนกว่า 400 บริษัท ทว่าผู้เล่นตัวจริงกลับมีไม่ถึงครึ่งที่มีเครื่องมือทางการตลาด และการให้ความรู้และแนวคิดเพื่อสนับสนุนนักธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

 ขณะที่ธุรกิจนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย แต่ SCM ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่โปร่งใส ภายใต้หลักธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจที่ดี จนสามารถพลิกโฉมครั้งสำคัญให้กับวงการธุรกิจ Network Marketing ด้วยการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่เป็นธุรกิจ Network Marketing แบรนด์ไทยแห่งแรกที่เข้าเทรดใน SET เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย

 นายแพทย์ สิทธวีร์ เกียรติชวนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซัค   ​  เซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM ผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค กล่าวว่า การเข้ามาเป็นบริษัทมหาชนนับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมเครือข่ายของไทยกว่า 30 ปีที่ผ่านมายังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย เพราะมีบุคคลบางกลุ่มที่ต้องการเข้ามาหาผลประโยชน์จากอุตสาหากรรมเครือข่าย จึงทำให้อุตสาหกรรมนี้ถูกมองเป็นมันนี่เกม หรือที่เรียกว่าแชร์ลูกโซ่ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการหรือบริษัทที่มีความตั้งใจจริงในการดำเนินธุรกิจเครือข่ายอย่างถูกต้องและโปร่งใส

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา SCM ได้ว่าจ้างบริษัท ธรรมนิติ จำกัด (มหาชน) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านบัญชีมาเป็นผู้ดูแลและตรวสอบบัญชี ทำให้ SCM มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นการส่งรายงานยอดขายเป็นประจำทุกปี รวมถึงการจ่ายภาษีอย่างถูกต้องและโปร่งใส โดยหลังจากยื่นไฟลิ่งเป็นผลสำเร็จแล้วส่งผลให้การบริหารจัดการภายในองค์กรมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น จากเดิมที่เคยบริหารกันแบบ 2 คน คือ ตัวผม กับ CEO         นพกฤษฏิ์ ก็มีคณะกรรมการเข้ามาร่วมตัดสินใจด้วย ทำให้ SCM มีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้บริหารทุกท่านที่มีความตั้งใจยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมเครือข่ายของไทยให้เป็นที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมประกันชีวิตและประกันภัยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์

ขณะที่กระแสหุ้น SCM ในช่วงเปิดให้จองหุ้น พบว่าได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนและผู้ที่สนใจเป็นอย่างมาก โดยมียอดจองหุ้นเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องจัดสรรหุ้นตามตำแหน่งลดหลั่นกันไป แต่หลังเปิดทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันแรก (วันที่ 8 กันยายน 2563) พบว่าหุ้น SCM ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนและผู้ที่สนใจเกินความคาดหมาย จะเห็นได้จากราคาเปิดตลาดอยู่ที่ 2.86 บาท เพิ่มขึ้น 0.96 บาท จากราคา IPO ที่ 1.90 บาทต่อหุ้น หรือหุ้นพุ่งเหนือจอง 50.53% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นใน SCM และอุตสาหกรรมเครือข่ายของไทย

“การที่ SCM เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นรายแรก จะทำให้ SCM เป็นต้นแบบให้กับอีกหลายๆ บริษัทที่อยากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเชื่อว่าในอีก 2 – 5 ปีข้างหน้า จะมีผู้ประกอบการธุรกิจเครือข่ายอีกหลายค่ายยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากขึ้น โดยอาศัย SCM เป็นโมเดลต้นแบบในการยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ” นายแพทย์ สิทธวีร์ กล่าว

สำหรับจุดแข็งของ SCM คือ การมีโรงงานผลิตสินค้าเป็นของตัวเองภายใต้บริษัท เอสซีเอ็ม อินโนเวทีฟ จำกัด (SMI) รวมถึงความหลากหลายของสินค้ากว่า 70 รายการ ครอบคลุม 7 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 3.กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว 4.กลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าในครัวเรือน 5.กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 6.กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี 7. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายโดยส่วนใหญ่ใช้ตราสินค้าของผู้จัดจำหน่ายภายนอก (กลุ่มสินค้ารายการ Multi-Potential) ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและตลาดในวงกว้าง ทั้งในเรื่องของสุขภาพ ความสวย ความงาม ภาคการเกษตร เทคโนโลยีและนวัตกรรม และหากเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่มีผลิตภัณฑ์ 1-2 รายการเท่านั้น ซึ่งถือว่า SCM มีข้อได้เปรียบอย่างมาก จึงทำให้นักธุรกิจและผู้บริโภคมีความมั่นใจที่จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของ SCM ปัจจุบัน SCM มีนักธุรกิจกว่า 180,000 คนทั่วประเทศ

ขณะที่ภาพรวมธุรกิจของ SCM ในช่วงที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ท่ามกลางวิกฤตทำให้พบโอกาสการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดธุรกิจให้เติบโต อาทิเช่น การประชุมกับนักธุรกิจผ่านทาง ZOOM และการไลฟ์สดผ่านทางเฟซบุ๊ก ส่งผลให้ยอดขายสินค้าเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ ประกอบกับความถี่ของการจัดงานสัมมนาต่างๆ ที่ปรับลดลงในปีนี้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลง ซึ่งเป็นผลดีต่อผลกำไรในปีนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

นายแพทย์ สิทธวีร์ กล่าวต่อว่า จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งพิษเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับว่าเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น SCM จึงเน้นโฟกัสไปที่การดูแลตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ ที่ปัจุบันมีอยู่ 6 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่           เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาคนโดยสถาบัน Successmore Leadership Academy (SLA) ที่มุ่งเน้นการอบรมและให้ความรู้ในเรื่องของความมุ่งหวังในการสร้างพลังและแรงบันดาลใจควบคู่กับการการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนให้ประสบความสำเร็จ ภายใต้ปรัชญาที่ว่า Inspiration for your Being “แรงบันดาลใจเปลี่ยนชีวิตคุณ”

“ปัจจุบันเราแข่งขันกับผู้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียงกับเรา โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ที่นำสินค้าประเภทเดียวกันมาขายตัดราคา หรือจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด ซึ่งมองว่ากระทบต่อยอดขายของบริษัทและรายได้ของนักธุรกิจ เพราะผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าในช่องทางเหล่านี้ ทั้งนี้  SCM ไม่ได้นิ่งนอนใจและแก้ไขปัญหาด้วยการให้บริการที่สุดแสนประทับใจและมีสินค้าให้เลือกครบครัน ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคหันกลับมาใช้บริการและซื้อสินค้าจาก SCM ขณะที่ภาพรวมธุรกิจขายตรงของไทย ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท โดย SCM ติดอันดับ 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมเครือข่ายที่มีอยู่กว่า 400 บริษัทในปัจจุบัน”  นายแพทย์ สิทธวีร์ กล่าว

การคิดจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่จะต้องเริ่มจากการสร้างแรงบันดาลใจ ควบคู่กับการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และอย่าไปยอมแพ้กับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะทุกๆ ปัญหาย่อมมีทางออกอยู่เสมอ เช่นเดียวกับการที่ SCM ต้องการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อต้องการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมเครือข่ายของไทยให้เป็นที่ยอมรับในสังคมเหมือนกับในต่างประเทศ