SCB CIO ชู3กลยุทธ์ลงทุนช่วงตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย

0
1424

 แนะถือเงินสดในพอร์ตรอจังหวะสะสมหุ้นสหรัฐพร้อมกลุ่มเปิดเมืองประเทศในอาเซียน          

SCB  CIO   ชี้ช่อง 3 กลยุทธ์หลักปรับพอร์ตการลงทุนในภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย  1 ) ถือเงินสดในพอร์ต 5-10%  2) รอจังหวะสะสมหุ้นสหรัฐ เมื่อมีความชัดเจนมากขึ้นจากเฟด  และ 3) สะสมหุ้นกลุ่ม  Reopening in ASEAN เพื่อรองรับการเปิดเมืองของแต่ละประเทศ  เช่น หุ้นไทยและหุ้นเวียดนาม  ส่วนค่าเงินบาทไทย คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 33  -34 บาท  ในช่วงครึ่งหลังปี  2022  หลังการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และ US Dollar Index น่าจะชะลอตัวลง เมื่อมีความชัดเจนจาก Dot plot ของเฟดในช่วงเดือนมิ.ย. นี้ 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเติบโตได้ แต่ยูโรโซนน่าห่วงจากดอกเบี้ยขาขึ้นแต่เศรษฐกิจอาจยังไม่พร้อม และจีนอาจชะลอมากกว่าคาด ดร. กำพล   อดิเรกสมบัติ   ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า  ตลาดการเงินโลกกำลังได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด ) และ ล่าสุดตลาดการเงินโลกเริ่มกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยหลังตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัว และหดตัวในบางประเทศ โดยความกังวลเริ่มสูงขึ้นหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 1/2022 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าออกมาติดลบ (-1.4% QoQ saar)  โดยสาเหตุหลักมาจากการเร่งตัวของการนำเข้า ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังเติบโตได้ดี (2.7%)  โดย SCB CIO ประเมินว่าโอกาสที่จะเกิดการถดถอยทางเทคนิค (technical recession) ในสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2/2022 ยังมีค่อนข้างน้อย แต่จีนมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไตรมาส 2/2022 จะชะลอมากกว่าคาด หลังการปิดเมืองเข้มข้น และมีแนวโน้มยืดเยื้อ ในขณะที่ยูโรโซนมีความเสี่ยงที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่พร้อม 

          อย่างไรก็ตาม ตลาดกำลังกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวแรงหรือเข้าขั้นถดถอย  โดยประเมินว่าเฟดจะให้ความชัดเจนมากขึ้นในการประชุมเดือน มิ.ย. นี้  หากพิจารณาความเคลื่อนไหวในตลาดพันธบัตรและค่าเงิน  SCB CIO  มองว่า ตลาดการเงินโลกยังคงมีความผันผวน จนกว่าจะมีความชัดเจนจากเฟด โดยดัชนีภาวะการเงินของสหรัฐฯ  (US Financial condition index) เริ่มตึงตัวใกล้ระดับปลายปี 2018 ที่มีการขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุด 2.5% ในรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่แล้ว เราเชื่อว่าเฟด จะเริ่มพิจารณาประเด็นนี้มากขึ้น และส่งสัญญาณชัดเจนในการประชุม 14-15 มิ.ย.นี้   โดย SCB  CIO ยังคงมุมมองคาดว่าเฟด จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 50 bps ในการประชุมในวันที่  14-15 มิ.ย และ 26-27 ก.ค. นี้  หลังจากนั้นจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 25 bps ในอีก 3 การประชุมที่เหลือ  ทำให้ Upper bound Fed fund target rate อยู่ที่ 2.75% ณ สิ้นปี 2022 แม้ความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอยจะสูงขึ้น แต่ผลประกอบการล่าสุดในกลุ่มประเทศ DM (สหรัฐฯ ยูโรป และญี่ปุ่น) และเวียดนาม ยังเติบโตได้และมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้  โดยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2022 ล่าสุดยังเห็นการเติบโตต่อเนื่องและทำได้ดีกว่าคาด 

ปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลก และ การปิดเมืองในจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อ supply chain โดย  SCB  CIO ประเมินว่า หากราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่เร่งตัวไปมากกว่าในกรอบ 100-110 USD/barrel ในช่วงครึ่งหลังของปี อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะเริ่มชะลอลงตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ความจำเป็นของเฟดที่จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ส่งสัญญาณในการประชุมเดือน มิ.ย.นี้ จะมีค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม การปิดเมืองเข้มข้นในเมืองเศรษฐกิจหลักของจีนเป็นความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อโลกที่ต้องระมัดระวังในช่วงที่เหลือของปี 

     ดร.  กำพล กล่าวต่อไปว่าการปรับพอร์ตการลงทุนในช่วงเวลานี้ ที่ตลาดคิดว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอย  โดย SCB CIO  แนะนำ  3  กลยุทธ์หลักดังนี้  1)  Cash amidst uncertainty ในช่วงที่รอความชัดเจนจากเฟด เรายังคงแนะนำให้มีเงินสดใน portfolio สัดส่วนประมาณ 5%-10%  2) Cost pass through to maintain profit margin ในกลุ่มตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว ( Developed Market ) แม้จะมีมุมมอง Neutral แต่เราชอบตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอัตรากำไรสูง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สามารถส่งผ่านต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นได้ โดยมีการเติบโตของค่าจ้างเป็นตัวช่วย โดยรอจังหวะสะสมหุ้นสหรัฐฯ เมื่อมีความชัดเจนมากขึ้นจากเฟด  และ 3) Reopening in ASEAN เราปรับมุมมอง หุ้นไทย เป็น Positive หลัง valuation กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ในขณะที่การเปิดเมือง มีความคืบหน้าต่อเนื่อง เราเชื่อว่าการเปิดประเทศของไทยจะทำให้กำลังซื้อในประเทศเริ่มฟื้นตัว จนพร้อมรับดอกเบี้ยขาขี้นได้ในปี 2023 ซึ่ง ธปท. น่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยใน 1H2023 และคงมุมมอง Positive ต่อ กลุ่มกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อาเซียน ( Asian REITs)

สำหรับมุมมองด้านค่าเงินบาท  SCB CIO ประเมินว่า  US dollar index อยู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปีและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ยังขาดดุล  ส่งผลแรงกดดันทำให้เงินบาทไทยอ่อนค่า น่าจะรุนแรงสุดในช่วงไตรมาส 2/2022 แต่ในระยะข้างหน้า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามการคาดการณ์การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมกับ US dollar index ที่น่าจะเริ่มชะลอตัวลงบ้างหลังมีความชัดเจนจาก dot plot ของเฟดในช่วงเดือน มิ.ย.นี้  เราคาดว่า USDTHB เคลื่อนไหวในกรอบ 33.75-34.5 ในไตรมาส 2/2022F และเริ่มแข็งค่าขึ้นในกรอบ 33-34 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2022F

นอกจากนี้   SCB  CIO  ยังคงมุมมอง Positive กับตลาดหุ้นเวียดนาม ประเมินความผันผวนเป็นปัจจัยระยะสั้นเนื่องจากตลาดหุ้นเวียดนามมีนักลงทุนรายย่อยเป็นผู้ลงทุนหลัก แต่การฟื้นตัวของการส่งออก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจในประเทศ และผลประกอบการ ยังเติบโตต่อเนื่อง และยังคงมุมมอง Neutral ต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีนที่ยังคงถูกกดดันจากนโยบาย Zero COVID policy