กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด
(มหาชน) ประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า
มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.75-34.30 บาท/ดอลลาร์ โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 34.24 บาท/ดอลลาร์
หลังซื้อขายในช่วง 34.05-34.57 เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือน
ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ตามคาด เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี
หลังสหรัฐฯประกาศทบทวนตัวเลขการจ้างงานในช่วงตั้งแต่เดือนเม.ย. 66 ถึงมี.ค. 67 ต่ำกว่าที่เคยรายงานไว้เดิม 818,000 ตำแหน่ง ซึ่งเท่ากับว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 174,000 ตำแหน่งต่อเดือนในช่วงดังกล่าว แทนที่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 242,000 ตำแหน่งต่อเดือน และนับเป็นการปรับทบทวนลดลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 52 นอกจากนี้ รายงานประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)เมื่อวันที่ 30-31 ก.ค. ระบุว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงในเดือนก.ย.
และเจ้าหน้าที่เฟดบางรายอาจต้องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตั้งแต่การประชุมรอบที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 5,948 ล้านบาท
แต่ซื้อพันธบัตร 3,615 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ว่าหลังประธานเฟดส่งสัญญาณชัดเจนเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่คลายตัวลง และความเสี่ยงด้านต่ำต่อตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น โดยเฟดเปิดทางเลือกไว้เกี่ยวกับขนาดการลดดอกเบี้ยตามข้อมูลเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับตัวเลขเงินเฟ้อ PCE เดือนก.ค.ของสหรัฐฯที่จะประกาศปลายสัปดาห์นี้ ขณะที่สัญญาดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่าในการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. มีโอกาสราว 65% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25bp และคาดว่ามีโอกาส 35% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 50bp จากระดับ 5.25-5.50%
สำหรับปัจจัยในประเทศ กนง.คงดอกเบี้ยด้วยมติ 6 ต่อ 1 เสียง โดยกรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่าระดับดอกเบี้ยสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อและเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยในภาพรวมกนง.ระบุว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีไตรมาส 2 ที่ 2.3% ถือว่าใกล้เคียงกับที่ธปท.ประเมินไว้ และดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ในระดับเป็นกลาง เรามองว่ากนง.จะคงดอกเบี้ยไว้ในการประชุมเดือนต.ค. อย่างไรก็ตาม หากภาวะการเงินตึงตัวกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กนง.อาจตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยในระยะถัดไป