ทิมพู ประเทศภูฏาน – ภูฏาน ดินแดนมหัศจรรย์ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ บรรยากาศอันเงียบสงบ และปกคลุมด้วยมนตราแห่งจิตวิญญาณซึ่งแผ่กระจายอยู่ในทุกย่างก้าวของการดำเนินชีวิต ดินแดนหุบเขาแห่งมังกรสายฟ้าแห่งนี้จึงเหมาะสำหรับการปลีกวิเวกเพื่อขจัดความเครียด และเปิดโอกาสให้นักเดินทางทุกคนได้อยู่กับตัวเอง กับดินแดนที่พื้นที่ 3 ใน 4 ของประเทศปกคลุมไปด้วยป่าไม้ นักเดินทางจะได้ค้นพบความสงบทางจิตวิญญาณจากการเยี่ยมชมวัดต่าง ๆ ผ่อนคลายไปกับการแช่น้ำในอ่างหินร้อนแบบดั้งเดิม ปลดปล่อยจิตใจด้วยโยคะ และออกเดินทางท่องเที่ยวไปตามภูมิประเทศที่น้อยคนเคยไปถึง ร่วมสัมผัสกับความสงบเงียบที่ไม่เหมือนใครในอาณาจักรหิมาลัยแห่งนี้
- สร้างสุขภาพดีแบบองค์รวมกับการเล่นโยคะที่ภูฏาน
นับตั้งแต่ประเทศภูฏานเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ผู้ที่รักการฝึกโยคะต่างก็หลั่งไหลมายังจุดหมายปลายทางอันเงียบสงบบนเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ เพื่อพัฒนาทักษะท่วงท่าการปฏิบัติโยคะของตัวเอง และคงไม่มีสถานที่ใดในโลกจะเหมาะกับการปฏิบัติโยคะไปกว่าประเทศภูฏานอีกแล้ว ไม่ว่าจะตื่นมาเล่นในที่พักซึ่งสามารถมองเห็นความยิ่งใหญ่ของทิวเขาได้ตลอดเวลา หรือว่าจะเปลี่ยนฉากหลังเป็น ซอง (Dzong) หรือวัดของภูฏาน ก็นำพาความเงียบสงบสู่จิตใจได้ดีไม่แพ้กัน จึงไม่น่าแปลกใจหากการผสมผสานระหว่างความเงียบสงบทางจิตวิญญาณ และความงามของธรรมชาติจะทำให้ประสบการณ์การฝึกฝนโยคะในครั้งนี้เปลี่ยนแปลงชีวิตของนักเดินทางไปตลอดกาล
การปฏิบัติโยคะในภูฏานได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดียซึ่งถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากมีอาณาเขตติดต่อกัน เป็นที่รู้กันโดยทั่วกันว่าการฝึกโยคะประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ โดยเฉพาะเมื่อปฏิบัติในพื้นที่กลางแจ้ง เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบปลอดภัยจะเป็นตัวช่วยช่วยขับสารเอนดอร์ฟินในปริมาณที่สูงขึ้นมากไปยังสมอง ภูฏานมีสถานที่ปฏิบัติโยคะมากมาย รวมถึงการยืดเส้นยืดสายในตอนเช้าเพื่อให้คุณได้สูดอากาศบริสุทธิ์ของอาณาจักรหิมาลัย นักท่องเที่ยวสามารถค้นหาศูนย์ฝึกโยคะตามเมืองใหญ่ ๆ ของประเทศเพื่อค้นหาจิตวิญญาณแห่งโยคีในตัวเอง
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโยคะและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมในภูฏาน คลิกที่นี่: https://bhutan.travel/experiences-wellness-and-wellbeing
- ค้นพบความสงบทางใจที่วัดภูฏาน
ปูนาคาซอง (Punakha Dzong) วัดในเมืองปูนาคาซึ่งเก่าแก่เป็นอันดับสองของประเทศ รวมถึงใหญ่เป็นอันดับสองในภูฏาน หนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่สง่างามที่สุดของราชอาณาจักรแห่งนี้ ชาวภูฏานจะเรียกปูนาคาซอง ว่า ‘พระราชวังแห่งความสุข’ ในอดีตเคยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการปกครองของเขตนี้ ตั้งอยู่ระหว่างจุดบรรจบของแม่น้ำโมชู Mo Chuu และแม่น้ำโพชู Pho Chhu ยังมีศาสนสถานที่สำคัญอีกแห่งซึ่งนักท่องเที่ยวต้องไปเยือนคืออารามกังเต (Gangtey Monastery) ตั้งอยู่ในหุบเขากังเต สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับคำสอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นแหล่งพักใจอันเงียบสงบสำหรับผู้มาเยือนที่อยากหลีกหนีจากความวุ่นวาย ท่ามกลางความงดงามของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิถีชาวพุทธในประเทศภูฏาน ก่อนเดินทางไปเยือนสถานที่จริง คลิก: https://bhutan.travel/experiences-culture
- ปรนนิบัติร่างกายเพื่อการฟื้นฟู ด้วยการแช่อ่างน้ำอุ่นจากหินร้อน
หลังจากใช้พลังไปกับการท่องเที่ยว ก็ถึงเวลาที่จะผ่อนคลายและฟื้นฟูร่างกายด้วยการแช่ตัวในอ่างหินร้อนเมนชูสไตล์ภูฏาน (Bhutanese menchu hot stone bath) หรือการแช่น้ำอุ่นเพื่อรักษาโรคโดยใช้น้ำแร่ และสมุนไพร ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เหมือนใครในโลก เจ้าของโรงอาบน้ำจะนำหินจากแม่น้ำไปเผาไฟจนร้อนจัด ก่อนน้ำลงแช่ในอ่าง เพื่อให้หินปล่อยแร่ธาตุออกมาซึ่งมีสรรพคุณในการดูแลสุขภาพหลายประการ อาทิ ช่วยรักษาโรคข้ออักเสบ ความดันโลหิตสูง อาการปวดข้อ และความผิดปกติของกระเพาะอาหาร เป็นต้น
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าใจวิถีชีวิตของชาวภูฏานได้มากยิ่งขึ้นจากการเข้าพักในโฮมสเตย์ซึ่งยังคงไว้ทั้งสถาปัตยกรรม และการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิม รวมถึงจะได้มีโอกาสอาบน้ำหินร้อนเพื่อการบำบัดร่างกายในอ่างไม้ที่ชวนให้นึกถึงพิธีกรรมอาบน้ำแบบโบราณ ใช้น้ำแร่ และสมุนไพรรักษาโลกที่หาได้ในท้องถิ่นมาเป็นส่วนประกอบการปรนนิบัตินี้ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกได้ว่าต้องการแช่น้ำหินร้อนในบรรยากาศหรูหราหรือเรียบง่าย ซึ่งทั้งสองตัวเลือกนั้นมาพร้อมกับความเป็นส่วนตัว การรักษา และรุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมโบราณ
- เดินป่าผ่านภูมิประเทศแบบธรรมชาติของภูฏาน
ความงดงามทางธรรมชาติอันเงียบสงบและบริสุทธิ์ของประเทศภูฏานพร้อมแล้วที่จะเป็นฉากหลังอันงดงามสมบูรณ์แบบสำหรับการเดินป่าบนเทือกเขาหิมาลัยอันโด่งดังที่ทุกคนใฝ่ฝันอยากมาสักครั้งในชีวิต เส้นทางเดินป่าซึ่งมีครอบคลุมทั้งราชอาณาจักรภูฏานจะช่วยให้นักเดินทางได้สัมผัสกับอากาศบริสุทธิ์และค้นพบความผ่อนคลายอีกหนึ่งรูปแบบซึ่งโอบล้อมด้วยธรรมชาติ ไม่ว่าคุณจะกำลังมองหากิจกรรมผจญภัยสุดท้าทายหรือการเดินเล่นสบาย ๆ เส้นทางในภูฏานก็เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการพักผ่อนและกลับไปใกล้ชิดกับธรรมชาติอีกครั้ง
สำหรับใครที่มองหาความท้าทายทั้งร่างกายและจิตใจ ‘เส้นทางทรานส์-ภูฏาน’ (Trans Bhutan Trail) จะมอบประสบการณ์ที่ไม่มีใครเทียบได้ โดยเส้นทางเดินป่านี้มีระยะทางยาว 403 กิโลเมตร จากเมืองฮา (Haa) ที่อยู่ทางตะวันตกไปจนถึงเมืองทราชิกัง (Trashigang) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศ โดยจะเป็นเส้นทางที่พาทั้งนักเดินป่า นักปั่นจักรยาน และผู้แสวงบุญเดินทางไปค้นพบธรรมชาติอันงดงามที่ซ่อนเร้นของภูฏานภายแห่งเทือกเขาหิมาลัย ‘ทรานส์-ภูฏาน’ เป็นเส้นทางเชื่อมป้อมปราการดั้งเดิมทั้ง 9 แห่งเข้าด้วยกัน ถือเป็นเส้นทางเดินป่าที่น่าทึ่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เปิดโอกาสในการค้นหาความสงบภายในตัวเองและเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณตลอดเส้นทาง
ศึกษารายละเอียด 12 วันของการเดินป่าเส้นทางทรานส์-ภูฏาน และค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://bhutan.travel/adventure-experiences
- เรียนรู้เกี่ยวกับการรักษาแผนโบราณแบบภูฏาน
นอกจากยาแผนปัจจุบันแล้ว ชาวภูฏานส่วนใหญ่ยังคงเชื่อและใช้ยาแผนโบราณ ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่สุดอย่างหนึ่ง คนภูฏานจะเรียกยาแผนโบราณในชื่อ โซวะ ริกปะ (Sowa Rigpa) มีความเป็นมายาวนานกว่า 2,500 ปี โดยส่วนใหญ่จะใช้ศาสตร์นี้ในภูมิภาคแถบเทือกเขาหิมาลัย เหตุผลที่ยาแผนโบราณยังคงเป็นที่นิยมในหมู่ชาวภูฏาน เนื่องจากเป็นการรักษาที่ยึดหลักคำสอนของศาสนาพุทธ สร้างขึ้นจากแนวคิดที่เชื่อว่าคนเราจะมีสุขภาพดีได้ก็ต่อเมื่อธาตุหลักทั้ง 3 อย่างในร่างกายเกิดสมดุล ได้แก่ อากาศ น้ำดี และเสมหะ การรักษาอาจรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การใช้ยาสมุนไพร กายภาพบำบัด และการบำบัดทางจิตวิญญาณ นอกจากนี้ เห็ดหลายชนิดและถั่งเช่ายังมีคุณค่าทางยาและคุณประโยชน์อีกมากมายต่อร่างกาย นักเดินทางสามารถเยี่ยมชมสถาบันบริการยาแผนโบราณ (Traditional Medicine Services) ที่เมืองทิมพูเพื่อขอคำปรึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับยาแผนโบราณได้
“ท่ามกลางทิวทัศน์อันสวยงามและบรรยากาศอันเงียบสงบ ประเทศภูฏานจะเปิดโอกาสให้กับนักเดินทางได้กลับมาสำรวจตัวเองอีกครั้ง เหมาะสำหรับคนที่ต้องการหลีกหนีจากความเครียดในชีวิตและค้นหาความสงบทางจิตวิญญาณ ตั้งแต่การฝึกโยคะในวัดที่สวยงามไปจนถึงการแช่ตัวในอ่างหินร้อนเพื่อฟื้นฟูร่างกาย หรือจะเป็นการเดินเทรกกิ้งผ่านป่าที่สวยงาม ประเทศแห่งนี้จะมอบประสบการณ์อันหลากหลายเพื่อการมีสุขภาพที่ดี จากทั้งหมดที่กล่าวมา รวมถึงการใช้ยาแผนโบราณซึ่งมีรากฐานมาจากศาสนาพุทธ ภูฏานจะเป็นจุดหมายปลายทางที่จิตวิญญาณของคุณจะได้รับการปลอบประโลมและเป็นที่ฟื้นฟูจิตใจอย่างแท้จริง” มร. ดัมโช รินซิน (Damcho Rinzin) ผู้อำนวยการกรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏาน กล่าวสรุป
เกี่ยวกับ สภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏาน
สภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏานมีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภูฏาน เป็นองค์กรซึ่งทำหน้าที่เผยแพร่ความงดงามของสถานที่ ผู้คน และประสบการณ์ในราชอาณาจักรแห่งนี้ ให้กับนักท่องเที่ยวโดยยึดหลักการรับนักท่องเที่ยวปริมาณน้อย เพื่อให้ได้สัมผัสคุณค่าและประสบการณ์สูงสุด
เกี่ยวกับ ภูฎาน “บีลีฟ” (Bhutan Believe)
ภูฎาน “บีลีฟ” เป็นแบรนด์และสโลแกนใหม่ของประเทศภูฏาน เน้นย้ำความเชื่อของประเทศเรื่องอนาคตที่ดีกว่า น้อมนำโดยภูมิปัญญาจากคนรุ่นเก่า “บีลีฟ” เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อในอนาคตของภูฏาน เช่นเดียวกับศักยภาพ ความเป็นไปได้ และโอกาสที่ภูฏานนำเสนอให้กับโลกที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเกี่ยวกับการเชื่อในคุณค่า ความสามารถ การมีส่วนร่วมและศักยภาพของพลเมืองของประเทศ
ผู้มีโอกาสมาเยือนประเทศภูฏานต่างสรุปความหมายของ ภูฎาน “บีลีฟ” ด้วยใจความว่า: “เราเห็นอนาคตที่สดใส และเราเชื่อในความสามารถและความรับผิดชอบในการบรรลุเป้าหมายร่วมกันของเรา ซึ่งส่องประกายเป็นสัญญาณแห่งความเป็นไปได้ภายใต้โลกใบนี้”
ความหวังคือการเป็นในสิ่งที่เราเชื่อ เราถูกขอให้เชื่อมั่นในตนเอง คุณค่าของเรา ในอนาคตของภูฏาน ด้วยความหวังและความเชื่อมั่น
เกี่ยวกับ วีซ่าและค่าธรรมเนียมเพื่อการพัฒนาความยั่งยืน
การยื่นขอวีซ่าหรือใบอนุญาตไปภูฏานนั้นสามารถทำได้ง่ายดาย นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องมีวีซ่าและใบอนุญาตก่อนเดินทางไปภูฏานโดยสมัครทางออนไลน์หรือผ่านทางบริษัททัวร์ภูฏาน โดยใช้เวลาประมาณ 5 วันในการดำเนินการ ยกเว้นนักท่องเที่ยวจากอินเดีย มัลดีฟส์และบังคลาเทศที่สามารถยื่นขอ ณ วันที่เดินทางมาถึงได้
ผู้มาเยือนทุกคนจะต้องชำระค่าธรรมเนียมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Fee – SDF) ของภูฏานเป็นจำนวน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อคืน (มีอัตราลดหย่อนสำหรับเด็ก) และค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่าจำนวน 40 ดอลลาร์สหรัฐ จะใช้ได้เพียงหนึ่งครั้ง และไม่สามารถขอคืนได้ สำหรับชาวอินเดียจะต้องชำระค่า SDF เป็นจำนวน 1,200 รูปีต่อคนต่อคืน
ค่าธรรมเนียมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDF) จะถูกนำมาใช้เป็นทุนสนับสนุนโครงการด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการศึกษาทั่วประเทศภูฏาน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: www.bhutan.travel