เดอะวิสดอมกสิกรไทย ร่วมกับ K WEALTH เกาะติดนโยบายเร่งด่วนของทรัมป์ พร้อมแนะนำการบริหารพอร์ตการลงทุนแบบเอ็กซ์คลูซีฟให้ลูกค้าแบบส่วนตัว

0
22

เดอะวิสดอมกสิกรไทย ร่วมกับ K WEALTH ศูนย์รวมความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านการเงิน การลงทุนและประกัน จากธนาคารกสิกรไทย จัดเสวนารูปแบบพิเศษ ในหัวข้อ Investment Strategies for 2025: Thriving in the Trump-Inspired Global Economy พร้อมนำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนให้คำแนะนำวางกลยุทธ์การลงทุนแบบเอ็กซ์คลูซีฟให้กับลูกค้าเดอะวิสดอมแบบส่วนตัว ระบุทั่วโลกเผชิญความท้าทายจาก 2 มหาอำนาจโลกที่อาจจุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ โดยทรัมป์เร่งเครื่อง 3 นโยบายหลัก ได้แก่ “ผลักดันผู้อพยพ – ขึ้นภาษีศุลกากร – สนับสนุนการขุดเจาะและผลิตน้ำมัน” ขณะที่จีนส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญในปี 2568 เน้นแก้ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ฟื้นฟูความเชื่อมั่น และเพิ่มการบริโภคในประเทศ ส่วนเศรษฐกิจไทยเตรียมรับผลกระทบจากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย แนะจัดสัดส่วนเงินลงทุนส่วนใหญ่ใน CORE Portfolio ที่กระจายการลงทุนทั่วโลก (Global Balanced Fund) และเพิ่มโอกาสลงทุนใน SATELLITE ผ่านกองทุนตราสารหนี้เอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งกองทุนหุ้นสหรัฐฯ

นายพิภวัตว์ ภัทรนาวิก รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางสถานการณ์การลงทุนในตลาดโลกที่มีความผันผวนต่อเนื่อง เดอะวิสดอมกสิกรไทย พร้อมให้บริการพิเศษด้านการลงทุนในทุกมิติ เพื่อบริหารความมั่งคั่งให้กับลูกค้าเดอะวิสดอมกสิกรไทย โดยได้ร่วมกับ K WEALTH จัดเสวนาพิเศษ THE WEALTH MASTER ในภูมิภาคต่างๆ เป็นประจำ ซึ่งในปีนี้ จัดขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมจัดทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนจาก K WEALTH ร่วมวิเคราะห์และวางกลยุทธ์บริหารพอร์ตลงทุนแบบเอ็กซ์คลูซีฟให้ลูกค้าแบบส่วนตัว เพื่อเสริมเสถียรภาพของพอร์ตให้แข็งแกร่ง และตอบโจทย์เป้าหมายการลงทุนมากยิ่งขึ้น

ปี 2568 มาพร้อมกับความท้าทายใหม่จากนโยบายของโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กลับมาตอกย้ำและสานต่อแนวทาง “America First” ผ่านมาตรการกีดกันการค้าและนโยบายการต่างประเทศที่เข้มงวด พร้อมๆ กับการสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศผ่านการลดภาษีและผ่อนคลายกฎเกณฑ์การทำธุรกิจ ในขณะที่จีนยังเผชิญกับความพยายามในการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและครัวเรือนผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจจีนในปี 2568 การติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและการปรับกลยุทธ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงจะเป็นกุญแจสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงที่นโยบายหลักของสหรัฐฯ เริ่มส่งผลกระทบชัดเจน

เกาะติด “ทรัมป์” เร่งเครื่อง ดัน 3 นโยบายหลัก

นางสาวศิริพร สุวรรณการ CFA, CFP® Chief Investment Officer (CIO) ของ K WEALTH ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปีนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวต่อเนื่องได้ราว 2.4% จากการบริโภคที่แข็งแกร่งและตลาดแรงงานที่ดี แนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลงจะเปิดทางให้ FED ลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง รวม 0.50% สู่ระดับ 3.75%-4.00% ทั้งนี้ การผลักดันนโยบาย “American First” อย่างเข้มข้นของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ที่มุ่งเน้นความรุ่งเรืองในประเทศจะสร้างแรงกดดันให้กับประเทศคู่ค้า และเป็นที่หวั่นวิตกทั่วโลกว่า อาจเป็นชนวนไปสู่สงครามการค้าระลอกใหม่ โดย 3 นโยบายหลักที่ทรัมป์เร่งดำเนินการ ได้แก่
-นโยบายผลักดันผู้อพยพผิดกฎหมายออกนอกประเทศ “Back to Their Places” ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติบริเวณชายแดนทางตอนใต้ระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโก พร้อมส่งทหารควบคุมพรมแดนแบบเต็มรูปแบบป้องกันการลักลอบเข้าเมืองและเนรเทศผู้อพยพที่ผิดกฎหมาย
-นโยบายภาษีศุลกากร “America First Trade Policy” จากแนวทางของทรัมป์ที่เตรียมขึ้นกำแพงภาษีเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศและแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเริ่มต้นที่สินค้าจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ล่าสุดผู้นำได้ร่วมกันหาทางออกชั่วคราว โดยทั้งแคนาดาและเม็กซิโกต่างตอบรับข้อเรียกร้องของทรัมป์ในการปรับปรุงมาตรการควบคุมความมั่นคงชายแดน เพื่อปราบปรามปัญหาผู้อพยพและยาเสพติด
-นโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อม “Drill Baby, Drill” ทรัมป์ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานแห่งชาติ ส่งเสริมการสำรวจและผลิตพลังงาน เน้นนโยบายขุดเจาะน้ำมันครั้งใหญ่ และเตรียมยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อทำให้อุตสาหกรรมพลังงานสหรัฐกลับมาแข็งแกร่ง และทำให้ต้นทุนด้านพลังงานถูกลง พร้อมกันนี้ ทรัมป์ ได้ลงนามถอนตัวจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement) ซึ่งการถอนตัวครั้งนี้ จะกระทบเป้าหมายของข้อตกลงการลดก๊าซเรือนกระจกและจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยมลพิษมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

นางสาวศิริพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะที่เศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์และแรงกดดันในภาคส่งออกจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ คาดเศรษฐกิจจีนเติบโตได้เพียง 4.3% โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก และแม้รัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่อาจพยุงเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นเท่านั้นจนกว่าความเชื่อมั่นจะกลับมา สำหรับประเทศไทย คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.4% จากแรงส่งในภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงและแรงกดดันในภาคส่งออกจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง รวม 0.50% สู่ระดับ 1.75% ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกจะได้แรงหนุนการบริโภคในระยะสั้น จากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น Easy E-receipt และโครงการเติมเงินผ่าน Digital Wallet

K WEALTH ชี้ 5 ปัจจัยหนุนการลงทุนทั่วโลก แนะกองทุนรวมตราสารหนี้เอกชน และกองทุนรวมตราสารทุนในหุ้นสหรัฐฯ*

K WEALTH มองปี 2568 เป็นปีที่ดีต่อการลงทุน โดยมีแรงสนับสนุนจาก 1) เศรษฐกิจโลกที่ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่ำ 2) ฐานะการเงินและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอยู่ในเกณฑ์ดี 3) อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงตามทิศทางเงินเฟ้อ 4) เศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งสหรัฐฯ และจีน มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 5) เงินลงทุนจะโยกย้ายออกจากตราสารการเงินระยะสั้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง เพื่อแสวงหาโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

สินทรัพย์ลงทุนที่น่าสนใจ
· กองทุนรวมตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศ (Fixed Income Fund) เน้นตลาดหุ้นกู้บริษัทเอกชนเพราะผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล รวมทั้งเศรษฐกิจที่ดีจะลดความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้
· กองทุนรวมตราสารทุน (Equity Fund) เน้นตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพราะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่งรวมทั้งกำลังสนับสนุนจากนโยบาย American First สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ การเงิน และการบริโภค

อย่างไรก็ตาม การลงทุนทั่วโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2023 ทำให้มีโอกาสเกิดแรงขายเป็นระยะ หากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจหรือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่ำกว่าคาด พร้อมกันนี้ ยังมีความไม่แน่นอนของนโยบายของสหรัฐฯ รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่จะสร้างความผันผวนให้ราคาสินทรัพย์ตลอดทั้งปี การจัดพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของนักลงทุนจึงยังเป็นปัจจัยที่ห้ามมองข้าม