ตามที่สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ประเทศไทยได้รับการจัดกลุ่มให้เป็นประเทศที่นำ IFRS มาถือปฏิบัติ
(IFRS adoption Country) ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ และทำให้การจัดทำงบการเงินของกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะสามารถเปรียบเทียบกันได้กับกิจการในต่างประเทศ และสะดวกต่อการระดมทุนในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยถือเป็นกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบ โดยสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทย ออกประกาศมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย (TFRS 17) ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 กำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป แทนมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 4 เรื่อง สัญญาประกันภัย ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายงานทางการเงินไปจากเดิมอย่างมาก และต้องอาศัยความเข้าใจทางเทคนิคในเชิงลึก รวมถึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยในหลาย ๆ ส่วน เช่น บุคลากร ระบบงาน วิธีการลงบัญชี รูปแบบการรับรู้กำไรขาดทุน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคธุรกิจประกันภัย ดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานการรายงานทางการเงินต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 เป็นปีที่สำนักงาน คปภ.
มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศของสำนักงาน คปภ. เพื่อรองรับการยื่นงบการเงินรูปแบบใหม่ รวมถึงผลักดันการพัฒนาระบบงานของบริษัทประกันภัยให้มีความพร้อมในการถือปฏิบัติตาม TFRS 17 ตามกำหนดระยะเวลา ซึ่งได้กำหนดกิจกรรมให้บริษัทประกันภัยทดลองนำส่งงบการเงิน และรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและกิจการ แบบคู่ขนาน (Parallel run) ภายในเดือนสิงหาคม 2567 เพื่อเป็นการซักซ้อมและเตรียมความพร้อมให้บริษัทประกันภัย ก่อนที่ TFRS 17 จะเริ่มบังคับใช้ ในปี 2568 รวมทั้งกำหนดกิจกรรมการตรวจกระบวนการจัดทำงบการเงินคู่ขนาน ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการติดตามและควบคุมคุณภาพของกระบวนการจัดทำงบการเงินของบริษัทประกันภัย