ภาวะและคุณสมบัติของผู้นำในแต่ละยุคสมัยมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะการนำทีมหรือองค์กรหรือประเทศชาตินั้น หากเป็นการนำที่ถูกต้องนั้น จะต้องนำเพื่อให้ชีวิตของผู้คน รวมทั้งชีวิตของผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆดีขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการขับเคลื่อนคน ขับเคลื่อนแผนงานและการใช้ทรัพยากร เพื่อเอาชนะอุปสรรคต่างๆที่อยู่ทั้งภายในและภายนอกองค์กร จึงจะสามารถส่งมอบคุณค่าไปถึงตัวผู้บริโภคได้ และเมื่อสภาวะภายนอกในยุคโควิด 19 ครองเมือง ที่สร้างความบอบช้ำให้แก่เศรษฐกิจและชีวิตผู้คนอย่างหนักหนาสาหัส ผู้นำจึงเป็นคนแรกที่ต้องปรับตัวก่อน โดยมี 7 สิ่งสำคัญๆที่ผู้นำต้องทำได้ดี ดังนี้
1.ต้องตระหนักรู้ว่าตัวผู้นำเองต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
ระบบคิดและการปฏิบัติตัวของผู้นำ ถูกหล่อหลอมมาตามรูปแบบและวัฒนธรรมที่เป็นมา โดยรูปแบบแต่ละองค์กร และแต่ละประเภทธุรกิจนั้น ต้องการระดับมาตรฐานของผู้นำที่แตกต่างกัน องค์กรที่อยู่ในธุรกิจแบบผูกขาด หรือแบบไร้คู่แข่ง องค์กรลักษณะนี้จะนำง่าย ผู้นำที่มีผลงานอาจไม่ใช่ผู้นำที่มีมาตรฐานสูง ดังนั้น เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน สภาวะแวดล้อมเปลี่ยน หรือลักษณะธุรกิจเปลี่ยน ผู้นำที่เคยนำได้ผลในธุรกิจอีกแบบ จงอย่ามั่นใจเกินไป คิดว่าตัวเองคือผู้ยิ่งใหญ่ โดยไม่ตระหนักเลยว่าตัวเองต้องมีการเปลี่ยนแปลง
2.การเปิดใจ การรับฟังและการประเมินให้รู้ว่ามีอะไรบ้างที่ต้องเปลี่ยนแปลง
ในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายนั้น มี 2 ปัจจัยใหญ่ๆที่เราต้องเข้าใจ นั่นก็คือ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ประเด็นสำคัญก็คือ ผู้นำต้องนำทีมร่วมกันวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกก่อน เพื่อให้รู้และเข้าใจว่า โอกาส อุปสรรค ลูกค้า คู่แข่งขัน มาตรฐานของผู้เล่น เกมการแข่งขัน และความเสี่ยงต่างๆ เป็นอย่างไร จากนั้นค่อยกลับมามองปัจจัยภายใน ว่า เรามีจุดเด่น จุดด้อย ตรงไหน เพื่อที่จะใช้จุดเด่นไปจับกับโอกาส และลดจุดด้อยไม่ให้ทำลายตัวเรา ถ้าผู้นำไม่เคยระดมสมองเรื่องเหล่านี้กับทีมงานเลย ถือว่าเป็นการรบที่มีความประมาทสูง โอกาสที่จะชนะศึกในระยะยาวแทบไม่มี
3.การเลิกเล่นการเมืองในองค์กร ให้หันมาสร้างทีมที่ยิ่งใหญ่
การเล่นการเมืองในองค์กรประเมินได้จากพฤติกรรมหลายๆรูปแบบ อย่างเช่น การแบ่งแยกแล้วปกครอง การสร้างฐานคะแนนนิยมที่ไม่ได้เน้นการปรับปรุงทีมงาน การใช้จิตวิทยาในการทำให้คนรู้สึกแตกต่างที่ไม่ได้มาจากรากฐานของผลงาน แต่มาจากความชอบไม่ชอบส่วนตัว ดังนั้น ผู้นำยุคใหม่ จึงต้องหันมาสร้างทีม โดยการบริหารทีมด้วยการรับฟัง ให้คำแนะนำ ให้แนวทาง ไม่ดูถูกคนในทีม ไม่ยกตนข่มท่าน ให้ความเป็นธรรมและสร้างการยอมรับด้วยการเติมเต็มบางสิ่งที่ทีมขาด และเมื่อสร้างผลงานได้ตามเป้าหมาย ให้ส่งมอบเครดิตแก่ทีมด้วยความจริงใจ และรู้จักวัดผลด้วยการประเมินพลังทีม ว่าทีมของเรามีความฮึกเหิม ในการแสดงความคิดเห็น การให้ได้มาซึ่งข้อสรุปและการลงมือทำแค่ไหน
4.เป็นแบบอย่างของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ทุกวันนี้โลกภายนอกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความรู้ ความสามารถที่เคยใช้ได้ผล มีเกินกว่าครึ่งที่ใช้ไม่ได้อีก ดังนั้น เราจึงต้องเป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างสม่ำเสมอ ในแต่ละสัปดาห์จะต้องมีความคิดความอ่านที่ถูกยกระดับขึ้น เพื่อให้เรารู้เท่าทันและเข้าใจภาวะความเป็นไปของทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภัยนอก เพื่อที่เราจะได้ปรับแนวทางบางอย่างให้ยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ และประเด็นหัวใจอยู่ตรงที่ องค์กรจะมีพลังแห่งการขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ เมื่อมีคนในองค์กรจำนวนมากขึ้นที่หันมาเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เรียนรู้นั้นคือคนที่อยู่ในตำแหน่งหัวหน้างาน ให้คิดว่า ตราบใดที่เรายังไม่เลิกเป็นมืออาชีพ เรายังคงต้องเรียนรู้อยู่เสมอ เหมือนนักกีฬาอาชีพ ยังคงต้องฝึกซ้อมและฝึกฝนอยู่เสมอนั่นเอง
5.ขจัดอีโก้ออกไปให้เหลือระดับความมั่นใจในการนำทีมก็พอ
คนมีอีโก้คือคนที่คิดว่าตัวเองเก่งเหนือใครๆ พฤติกรรมที่ตามมาก็คือ การไม่ฟังคนอื่น การมองคนอื่นโง่ มองระบบว่ามีมาตรฐานต่ำ การพูดจายกย่องตนเองบ่อยๆ โดยอ้างอิงสถาบันการศึกษาหรือองค์กรที่ทำงาน ผลที่ตามมาก็คือ ผู้นำแบบนี้จะไม่รู้จักตนเอง จะไม่สามารถรับรู้ได้ว่าตัวเองมีจุดอ่อน จะไม่เปลี่ยนแปลงตนเอง แต่จะเรียกร้องให้คนอื่นเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ จะไม่เกิดบรรยากาศของการปรับตัวเข้าหากัน ก็ยิ่งทำให้การยอมรับด้วยหัวใจของผู้คนเกิดยากขึ้น เพราะคนเราส่วนใหญ่ ไม่มีใครสมบูรณ์จนไม่ต้องปรับอะไรและก็ไม่มีใครแย่ครบทุกเรื่องจนต้องปรับอยู่ฝ่ายเดียว ดังนั้น ผู้นำยุคใหม่จึงต้องขจัดอีโก้ออกไป เหลือไว้แค่ความมั่นใจก็พอ
6.เข้าใจและทำเรื่องการบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิผล
การทำงานของผู้นำมีส่วนของงานที่ทำด้วยตนเอง เช่นการใช้ความคิดเชิงกลยุทธ์ กับงานที่ทำผ่านคนอื่นที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กัน งานอย่างหลังจะไปเกี่ยวข้องกับเวลาของคนอื่น ซึ่งแต่ละคนก็มีงานที่ทำด้วยตนเองและทำผ่านคนอื่นเช่นเดียวกัน ดังนั้น ผู้นำจึงต้องตระหนักว่า เราจะต้องไม่เป็นต้นเหตุของการทำให้คนอื่นเสียเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการประชุมที่เรารวมคนมาอยู่ด้วยกันหลายๆคน ยิ่งต้องตระหนักเป็นเท่าตัว ซึ่งเราสามารถวัดการใช้เวลาว่ามีประสิทธิผลหรือไม่ง่ายๆ ด้วยการตรวจสอบว่า การพูดคุยได้แนวทางในการแก้ปัญหาหรือไอเดียในการไปต่อหรือไม่
และคนที่เข้าร่วมประชุม มีระดับพลังงานที่สูงขึ้นกว่าก่อนการประชุมหรือไม่ โดยมาตรฐานสมาธิและพลังของคนแล้ว ไม่ควรประชุมเกินครั้งละ 2 ชั่วโมง
7.นำพาองค์กรด้วยวิสัยทัศน์ พันธกิจและค่านิยม
พลังสูงสุดที่ผู้นำสามารถเข้าถึงและนำมาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรคือ พลังแห่งวิสัยทัศน์ พันธกิจและค่านิยม วิสัยทัศน์คือภาพขององค์กรที่เราจะสร้างให้มันเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การเป็นโอกาสที่ดีที่สุดให้ผู้คนได้เข้าถึงศักยภาพแห่งตน ส่วนพันธกิจคือเหตุผลที่ต้องมีองค์กรเราอยู่ในโลกใบนี้ มันคือจุดมุ่งหมายขององค์กร ส่วนค่านิยมคือคุณค่าที่องค์กรให้ความสำคัญและจะแสดงออกมาผ่านกลยุทธ์ แผนงานและการลงมือทำ เช่น การให้ลูกค้ามาก่อน การเน้นคุณภาพ และความซื่อสัตย์ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้คือ “7สิ่งที่ผู้นำต้องทำได้ดีในโลกยุคโควิด 19 ครองเมือง” ลองไปปรับใช้ดูนะครับ ผมมั่นใจว่าสามารถช่วยยกระดับภาวะการนำของท่านได้อย่างแน่นอน