ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ไตรมาส 1/2567 มีสัญญาณการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น แนวโน้มการลงทุนของจีนในประเทศไทยยังเพิ่มขึ้นในปี 2567

0
623

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน ได้ทำการสำรวจจากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และสมาชิกหอการค้าไทยจีน และประธาน ผู้บริหาร และกรรมการสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าไทยจีน จำนวน 430 คน ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน ถึง 7 ธันวาคม 2566 มีผลการสำรวจดังนี้


จากข้อมูลการบริโภคและการลงทุนในไตรมาสที่สามปี 2566 มีสัญญาณการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น พบว่าร้อยละ 60.5 และร้อยละ 17.2 ของผู้ถูกสำรวจ มีความมั่นใจพอประมาณ และมีความมั่นใจมากตามลำดับที่เศรษฐกิจไทยจะดีอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี
การสอบถามถึงโอกาสและอุปสรรคต่อเศรษฐกิจไทย พิจารณาจากการส่งออกและปัญหาของหนี้ครัวเรือนต่อเศรษฐกิจ ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าและบริการเติบโตเพียงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ด้วยสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และค่าเงินบาทที่มีความผันผวน การสำรวจความมั่นใจในการส่งออกปี 2567 พบว่าร้อยละ 74.4 คิดว่ามีความเป็นไปได้ และร้อยละ 11.7 ลงความเห็นว่าเป็นไปได้มาก ที่การส่งออกจะขยายตัวตามเป้าร้อยละ 3.6 แต่เมื่อพิจารณาถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน ร้อยละ 67.3 เห็นด้วย และยังมีร้อยละ 16.7 เห็นด้วยเป็นอย่างมาก ที่หนี้ครัวเรือนจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า


การลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ร้อยละ 55.0 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ให้ความเห็นว่าการลงทุนโครงสร้างระบบคมมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์)นั้น มีความสำคัญมาก และร้อยละ 21.9 ให้ความเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความสำคัญมากที่สุด มีเพียงร้อยละ 3.7 ให้ความสำคัญต่อโครงการน้อย
หากพิจารณาการลงทุนของจีนในประเทศไทยแล้วสองปีที่ผ่านมาจีนเป็นประเทศที่มีการลงทุนมากที่สุด เป็นการลงทุนใน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ด้วยสถานการณ์โลกที่มีความขัดแย้ง อาทิสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน สงครามรบระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ การสำรวจครั้งนี้ได้สอบถามถึงผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนของจีนในประเทศไทยในปี 2567 พบว่า ร้อยละ 63.5 คิดว่าการลงทุนจากจีนนั้นยังเพิ่มขึ้น ขณะที่ร้อยละ 16.7 คิดว่าการลงทุนยิ่งเพิ่มขึ้นมากในปี 2567 มีเพียงส่วนน้อยที่คิดว่าการลงทุนจากจีนจะชะลอตัวลง
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมากในปี 2566 ผู้ตอบแบบสอบถามมีรถยนต์ไฟฟ้าของจีนใช้อยู่แล้วร้อยละ 11.8 และร้อยละ 18.8 กำลังวางแผนที่จะซื้อรถไฟฟ้าของจีน ขณะที่มีรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ใช่ของจีนมากถึงร้อยละ 27.3 ส่วนร้อยละ 5.9 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีทั้งรถไฟฟ้าจีนและไม่ใช่ของจีนอยู่ในครอบครอง ส่วนร้อยละ 31.1 ยังคงใช้รถยนต์เครื่องสันดาปต่อไป โดยที่ยังไม่คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าของจีนนั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น คำถามต่อเนื่องคือจีนจะเลือกประเทศใดเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟฟ้าในอาเซียน ร้อยละ 81.5 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความมั่นใจว่าจีนจะเลือกไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟฟ้า ร้อยละ 6.3 คิดว่าน่าจะเป็นเวียดนาม สำหรับมาเลเซีย และอินโดนีเซียนั้นเป็น ร้อยละ 5.9 และ 5.4 ตามลำดับ
นักธุรกิจหอการค้าไทยจีนจะมีการปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจอย่างไร จากสถานการณ์การรบกันระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ร้อยละ 40.2 มีการเตรียมพร้อมเพื่อลดต้นทุนทางด้านพลังงานและพึ่งพาพลังงานทดแทนมากขึ้น ร้อยละ 35.5 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะจบลงเร็ววันดังนั้นจึงยังไม่ได้เตรียมตัวในการปรับแผนธุรกิจ ร้อยละ 12.7 ได้มีการวางแผนเพื่อเร่งหาคู่ค้ารายใหม่ๆ และร้อยละ 8.2 มีการวางแผนเตรียมพร้อมที่จะลดต้นทุนบุคลากร
นอกจากนี้ นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวเสริมว่า จากรายงานของศุลกากรจีน พบว่าการค้าระหว่างประเทศของจีนกับไทย ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤศจิกายน 2566) มีมูลค่าการค้ารวม 114,792.1 ล้าน เหรียสหรัฐ หดตัว 6.1% (-6.1%) โดยแบ่งเป็นการส่งออกมายังประเทศไทย มูลค่า 68,951.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 1.5% (-1.5%) และจีนนำเข้าสินค้าจากไทย มูลค่า 45,840.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 12.3% (-12.3%) ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของจีนในช่วง 11เดือนแรกของปี 2566 ที่มูลค่าการค้ารวมหดตัว 5.6% (-5.6%) การส่งออกลดลง 5.2% (-5.2%) และการนำเข้าลดลง 6% (-6%) ///