วันนี้ (10 มกราคม 2567) นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการสนับสนุนการจัดตั้งและบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย (MEA SPARK) ระหว่าง MEA กับ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองหน่วยงาน ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ ห้อง Auditorium อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย
ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้วางรากฐานความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ได้ริเริ่มโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยหรือ MEA SPARK ณ อาคาร 1 การไฟฟ้านครหลวง เขตวัดเลียบ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่มีอายุมากกว่า 107 ปี เป็นอดีตที่ทำการของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด และเป็นพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์กิจการไฟฟ้าไทย พร้อมจุดประกายการเรียนรู้เรื่องพลังงานไฟฟ้า
การร่วมมือระหว่าง MEA กับ มหาวิทยาลัยมหิดล ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมดำเนินการสนับสนุนการจัดตั้งและบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทย ณ อาคาร 1 การไฟฟ้านครหลวง เขตวัดเลียบ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การไฟฟ้าไทยที่มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล สร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ และบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีให้แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ และนักท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายพันธมิตรพิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสนับสนุนและต่อยอดกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ฯ ในอนาคต
ปัจจุบันอาคาร MEA SPARK อยู่ระหว่างการบูรณะ และพร้อมจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนใน พ.ศ. 2568 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การไฟฟ้าไทยแล้วเสร็จ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เสริมคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สังคม และประเทศชาติ เพิ่มคุณภาพชีวิตสร้างความสุขของประชาชนที่ได้เข้าชมรวมถึงเป็นสถานที่สำคัญ Landmark ใหม่ของเมืองมหานคร และกลายเป็นแหล่งการเรียนรู้แห่งใหม่ ตอบโจทย์อนาคตของการเรียนรู้ของผู้คนในสังคมที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ผ่านประสบการณ์ตรง ณ สถานที่จริง เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างสรรค์พื้นที่ใหม่แห่งการเรียนรู้สำหรับประเทศไทยต่อไป