นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA พร้อมด้วย คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ดร.สาวัสดิ์ บุญยะเวศ ที่ปรึกษา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) คุณสุภะดี อัสวรโชติ ผู้จัดการส่วนประจำ รักษาการผู้จัดการฝ่ายขายและปฏิบัติการลูกค้า กรุงเทพกลาง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด คุณเลิศรัตน์ รตะนานุกูล กรรมการและประชาสัมพันธ์สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานเขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร บริษัท วิบูลย์ธานี ทาวเวอร์ จำกัด สำนักงาน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) บมจ.บีอีซีเวิลด์ (ไทยทีวีสีช่อง 3) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) และผู้ประกอบการโทรคมนาคม ร่วมพิธีรื้อถอนสายสื่อสาร หลังจากได้ดำเนินโครงการสายสื่อสารใต้ดินแล้วเสร็จ ในพื้นที่บางส่วนของถนนพระราม 4 ตั้งแต่ บริเวณสถานีหัวลำโพง – แยกถนนสุขุมวิท รวมระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร กำหนดแล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2567 ซึ่งหลังจากนี้ MEA จะดำเนินโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่บางส่วนของถนนพระราม 4 (ตั้งแต่บริเวณสถานีหัวลำโพง – แยกถนนรัชดาภิเษก) ต่อไป
ในด้านภาพรวมปี 2567 MEA และหน่วยงานภาคี มีแผนนำสายสื่อสารลงใต้ดินจำนวน 32 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 68 กิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่บางช่วงของถนนสายสำคัญต่าง ๆ เช่น ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ถนนอโศกมนตรี ถนนศรีอยุธยา ถนนพระราม 4 ถนนบรรทัดทอง และถนนจรัญสนิทวงศ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้มีระเบียบเรียบร้อยจำนวน 183 เส้นทาง รวมระยะทางกว่า 570 กิโลเมตร เฉลี่ยดำเนินงานเดือนละ 45 กิโลเมตร และในปี 2568 ยังมีเป้าหมายจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้ารวมระยะทาง 800 กิโลเมตร ซึ่งในส่วนนี้ MEA ได้สนับสนุนการติดตั้งคอนสายสื่อสาร เพื่อใช้สำหรับการยึดสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งในปัจจุบันติดตั้งคอนเสร็จ ตามแผนปี 2567 กว่า 92.8%
ในด้านการใช้เทคโนโลยี MEA ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาคี ควบคุมการติดตั้งสายสื่อสารให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์การติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของ MEA รวมถึงการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า Smart CCM (Smart Communication Cable Management) เพื่อให้บริการขออนุญาตติดตั้งสายสื่อสารแบบออนไลน์ (Online) บันทึกข้อมูลของสายสื่อสาร และแผนผังเส้นทางที่ติดตั้งสายสื่อสารในแผนที่ภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) ของ MEA ช่วยบริหารจัดการข้อมูลสายสื่อสารที่ติดตั้งขึ้นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากการดำเนินงานด้านจัดระเบียบสายสื่อสารแล้ว MEA ยังมีโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินที่กำหนดเป้าหมาย 313.5 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 โดยโครงการดังกล่าว จะบูรณาการความร่วมมือในการนำสายสื่อสารลงใต้ดินไปในคราวเดียวกันเพื่อลดปัญหา และผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างอีกด้วย
MEA ในฐานะหน่วยงานผู้ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้สนับสนุนการจัดระเบียบสายสื่อสารตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย มีการดำเนินการจัดระเบียบรวมถึงบูรณาการร่วมกันเพื่อจัดทำโครงการสายสื่อสารใต้ดินอย่างต่อเนื่อง โดย MEA พร้อมอำนวยความสะดวกในด้านความปลอดภัยจากการทำงานบน เสาไฟฟ้าให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านความปลอดภัย ทัศนียภาพที่ดี รวมถึงความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้า การลดอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับประชาชนที่พบเห็นสายสื่อสารที่รกรุงรัง หลุดห้อยไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน กสทช. โทร. 1200 หรือพบว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าของ MEA ชำรุด อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งเหตุได้ที่ MEA Smart Life Application หรือสอบถามผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่ Facebook: การไฟฟ้านครหลวง MEA X: @mea_news และ Line: MEA Connect (@MEAthailand) สัญลักษณ์โล่สีเขียวนำหน้าชื่อบัญชีทางการเลือกเมนูติดต่อ MEA Call Center Online 1130 ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง