Krungthai COMPASS วิเคราะห์ สลับวันหยุด สร้างหยุดยาวในแต่ละครั้ง กระตุ้นท่องเที่ยวได้กว่า 1.7 พันล้านบาท

0
1521

ข้อมูลการขอเส้นทางจาก Apple Map เผยว่าวันหยุดยาวมีผู้ขอใช้เส้นทางมากกว่าวันหยุดเสาร์อาทิตย์มากถึง 50% ในขณะที่วันหยุดกลางสัปดาห์มีผู้ขอใช้เส้นทางน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับวันหยุดประเภทอื่นๆด้วยกัน
เมื่อมีวันหยุดยาว แทบทุกจังหวัดจะมีปริมาณการขอใช้เส้นทางจาก Apple Map ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการใช้ Map ที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์ไปกับอัตราการพักที่สูงขึ้นด้วย
Krungthai COMPASS ประเมินว่าการสลับวันหยุดกลางสัปดาห์ ให้ชนกับวันเสาร์-อาทิตย์ ในแต่ละครั้ง ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นมูลค่ากว่า 1.7 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30% จากการมีวันหยุดสุดสัปดาห์ กับอีกหนึ่งวันหยุดกลางสัปดาห์

ในการเดินทางท่องเที่ยว วันหยุดเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากปัจจัยหนึ่ง การที่วันหยุดนักขัตฤกษ์อยู่ติดกับเสาร์อาทิตย์ หรืออยู่กลางสัปดาห์ ดูจะส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะกับการเที่ยวในประเทศที่ใช้เวลาไม่กี่วัน

แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ และมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ต่ำ คือ การสลับวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่อยู่กลางสัปดาห์ หรือที่เรียกกันว่าวันหยุดฟันหลอ ให้มาหยุดติดกับวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อสร้างวันหยุดยาวแทน ซึ่งวิธีการนี้น่าจะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ โดยใช้วันหยุดเพียงเท่าเดิม ในบทความนี้ได้ทำการวิเคราะห์ว่า การมีวันหยุดยาว ดีกว่าการมีวันหยุดตรงกลางสัปดาห์อย่างไร มีพื้นที่ที่เสียประโยชน์หรือไม่ และมีผลต่อการท่องเที่ยวเพียงใด

พฤติกรรมการเดินทางระหว่างวันหยุดแบบต่างๆแตกต่างกันขนาดไหน?

เราพอทราบว่าผู้คนมักไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดยาวมากเป็นพิเศษ แต่เรามักไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นจำนวนมากกว่าการเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ปกติและวันหยุดตรงกลางระหว่างสัปดาห์ขนาดไหน อย่างไรก็ดี ด้วยข้อมูลดัชนีการขอใช้เส้นทางขับรถจาก Apple Map ทำให้เราเห็นภาพดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น

ในรูปที่ 1 ได้แสดงให้เห็นว่าผู้คนมักไม่ค่อยขอใช้เส้นทางนักในช่วงวันธรรมดา (ยกเว้นวันศุกร์ที่ผู้คนมักมีการสังสรรค์กันตอนเย็น ตลอดจนเดินทางออกต่างจังหวัด) แต่มักมีการขอเส้นทางในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และยิ่งมีการขอเส้นทางขับรถกันมากขึ้นในช่วงวันหยุดยาว เช่น ในช่วงวันหยุดยาวที่ 4-7 ก.ค. วันที่ 25-28 ก.ค. วันที่ 4-7 ก.ย. เป็นต้น (อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้คนขอเส้นทางน้อยกว่า หากวันหยุดยาวตรงกับช่วงที่มีมรสุม อย่างวันที่ 4-7 ก.ย.) และมีการขอใช้เส้นทางไม่มากนักในวันหยุดตรงกลางสัปดาห์ เช่น วันที่ 12 ส.ค.

เมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยการขอใช้เส้นทางต่อวันสำหรับวันประเภทต่างๆ ผลลัพธ์ในรูปที่ 2 ก็แสดงให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นว่า ค่าเฉลี่ยการขอใช้เส้นทางจะมีมากที่สุดในหมวดวันหยุดยาว ตามมาด้วยวันหยุดสุดสัปดาห์ ในขณะที่วันหยุดนักขัตฤกษ์ที่อยู่กลางสัปดาห์ อย่างเช่นวันที่ 12 ส.ค. มีคนขอเส้นทางน้อยที่สุดในหมวดวันหยุดด้วยกัน

แล้วเวลาคนใช้ Map เยอะขึ้น แล้วอัตราการพักเพิ่มขึ้นตามหรือไม่?

เมื่อพิจารณาข้อมูลค่าเฉลี่ยยอดผู้ขอเส้นทาง Apple Map รายเดือน กับอัตราการเข้าพัก (OR) ที่เผยแพร่รายเดือนในรูปแบบดัชนีที่มีค่าฐานที่เดือนมกราคม พบว่าค่าดัชนีทั้งสองในช่วง ม.ค. – ส.ค. มักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ในช่วง เม.ย. จะเห็นได้ว่าแม้ดัชนี Apple Map จะฟื้นตัวกลับมาในจุดเดิมได้ในเดือน ก.ค. แต่ค่า OR กลับฟื้นตัวไม่มากเท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการขอเส้นทาง Apple Map อาจขึ้นอยู่กับการขอเส้นทางขับรถของคนในประเทศมากกว่า ทำให้เวลาคนในประเทศกลับมาเดินทางเหมือนเดิม ค่าดัชนีจึงกลับมาได้เร็ว ในขณะที่ค่า OR ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่มาก (ในปี 2019 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วนรายได้ถึง 64% ของรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด) การที่ในช่วงนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเข้ามาพักที่ไทยได้ ทำให้ค่า OR ไม่สามารถฟื้นตัวได้มากนัก

ไม่เพียงแต่ที่เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างดัชนี Apple Map และค่า OR .ในภาพรวมของประเทศเท่านั้น หากพิจารณาลึกลงไปในระดับจังหวัด ก็จะพบว่าค่าดัชนีทั้งสองมีความสัมพันธ์กันเช่นกัน ในรูปที่ 5 ได้แสดงค่า OR และดัชนี Apple Map ในแต่ละจังหวัด โดยจุดแต่ละจุดแสดงถึงข้อมูลของแต่ละจังหวัด เราสามารถเห็นได้ว่าในตั้งแต่มีการคลายล๊อคดาวน์ (เดือน มิ.ย. ถึง ส.ค.) ค่าเฉลี่ยการขอใช้เส้นทาง Apple Map มีความสัมพันธ์ไปกับอัตราการพักของจังหวัดนั้นๆโดยเฉลี่ย กล่าวคือ จังหวัดที่มีค่า Apple Map สูงก็มีแนวโน้มที่จะมีค่า OR สูงตามไปด้วย

แล้วเวลามีวันหยุดยาว คนไปบางจังหวัดมากขึ้น บางจังหวัดลดลง หรือทุกจังหวัดมีคนไปมากขึ้น?

อาจมีความกังวลที่ว่า เมื่อมีวันหยุดยาวแล้ว อาจทำให้บางพื้นที่เสียประโยชน์หรือไม่ อย่างเช่น พอมีวันหยุดยาว นักท่องเที่ยวเลือกที่จะไปท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้ๆน้อยลง แต่ไปจังหวัดที่ไกลขึ้นแทน หรือคนในเมืองใหญ่อาจเดินทางออกนอกเมือง ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจในเมืองลดลง

เพื่อตอบปัญหานี้ เราได้คำนวณค่าเฉลี่ยของดัชนี Apple Map ที่ต่างกันระหว่าง ช่วงวันหยุดยาว และวันหยุดสุดสัปดาห์ที่มีวันหยุดสองวัน เพื่อให้เห็นว่าเมื่อมีวันหยุดยาวแล้ว บางพื้นที่มีผู้ขอใช้เส้นทางน้อยลงหรือไม่ เทียบกับวันหยุดธรรมดา โดยผลในรูปที่ 5 ได้แสดงว่าจังหวัดแทบทุกจังหวัดมียอดใช้ Apple Map ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสื่อถึงการเดินทางและการพักแรมที่มากขึ้น เมื่อมีวันหยุดยาว โดยมีเพียงกรุงเทพฯเท่านั้นที่มียอดผู้ใช้ Apple Map ลดลง ซึ่งก็ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งผลดังกล่าวพอจะบอกได้ว่าเมื่อมีวันหยุดยาว กิจกรรมท่องเที่ยวโดยรวมในแทบทุกจังหวัดมีความคึกคักมากขึ้น

แล้วกิจกรรมท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากวันหยุดยาว มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าเดิมเท่าไหร่?

จากผลการวิเคราะห์ดัชนี Apple Map และค่า OR เราประเมินว่า ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ผู้คนจะเดินทางท่องเที่ยวและพักแรมมากกว่าในช่วงวันธรรมดาประมาณ 50% ในขณะที่การเดินทางและพักแรมในช่วงวันหยุดยาวมีมากกว่าช่วงวันธรรมดาประมาณ 1 เท่าตัว ดังนั้น การสลับวันหยุดกลางสัปดาห์ให้กลายเป็นวันหยุดยาว ใน 1 ครั้ง คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ท่องเที่ยวได้มากขึ้นถึง 30% ในจำนวนวันหยุดที่เท่าเดิม ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.7 พันล้านบาท สำหรับในช่วงที่คนไทยใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวน้อยลงอย่างในปีนี้ และอาจเพิ่มรายได้ได้มากถึง 3.7 พันล้านบาท หากคนไทยใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวเท่ากับในช่วงปี 2019 (ในปี 2019 รายได้ท่องเที่ยวจากคนไทยมีมูลค่าสูงถึง 2.1 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์ แต่ในปีนี้ แม้จะมีการเปิดเมืองแล้ว ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเหลือเพียงสัปดาห์ละประมาณ 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น)

การประเมินข้างต้นทำให้เห็นภาพว่า การสร้างวันหยุดยาวช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ดี หากเป็นเช่นนั้นแล้ว จะดีกว่าหรือไม่ที่จะเพิ่มวันหยุดขึ้น เพื่อสร้างวันหยุดยาวแทนการสลับวันหยุดเท่านั้น? ในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนอยู่ เนื่องจากการเพิ่มวันหยุดอาจมีผู้ที่ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ประกอบการที่ต้องหยุดการดำเนินงาน แต่ยังต้องจ่ายค่าแรงลูกจ้างอยู่ หรือ หากผู้ประกอบการเลือกที่จะหยุดตามที่ภาครัฐประกาศ ลูกจ้างประเภทที่ได้ค่าแรงรายวันก็อาจเป็นฝ่ายที่ต้องเสียประโยชน์เนื่องจากต้องขาดรายได้จากการทำงานไป นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการเลือกที่จะไม่หยุดตามที่ภาครัฐประกาศ (ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้) ประสิทธิภาพในการกระตุ้นการท่องเที่ยวก็อาจไม่มากดังที่ภาครัฐคาดไว้

ข้อเสนอแนะ

ในช่วงที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวประสบความท้าทายอย่างหนัก เช่นเดียวกับภาครัฐที่กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความคุ้มค่าทางต้นทุนจึงยิ่งทวีความสำคัญขึ้น เราพบว่าการสลับวันหยุดกลางสัปดาห์ มาให้ชนกับวันหยุดสุดสัปดาห์ ในแต่ละครั้ง สามารถช่วยกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นกว่า 1.7 พันล้านบาท โดยที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มวันหยุด

จากการประเมินของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นสามารถลดจำนวนผู้กู้ที่อาจมีปัญหาในการชำระหนี้ได้อย่างมาก ดังนั้นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในที่นี้จึงไม่ได้มีผลดีกับเฉพาะกับธุรกิจโรงแรมเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์กับภาคครัวเรือนอีกด้วย ซึ่งเพียงแรงงานในอุตสาหกรรมที่พักแรมและร้านอาหารก็มีจำนวนกว่า 2.8 ล้านรายแล้ว

สุดท้ายนี้ แม้ว่าการสลับวันหยุด จะช่วยกระตุ้นพฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้คนได้ แต่ก็มีข้อที่พึงระวังบางประการเช่น การประกาศที่กระชั้นไปอาจทำให้นักท่องเที่ยววางแผนไม่ทัน นอกจากนี้ การสร้างวันหยุดยาวที่ตรงกับช่วงมรสุมก็อาจทำให้คนไม่ออกมาท่องเที่ยวมากอย่างที่ควรจะเป็น