Krungthai COMPASS ชี้ Solar-Corporate PPA เป็นธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่ตอบโจทย์กระแสรักษ์โลก

0
1364

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย เผย Solar-Corporate PPA เป็นธุรกิจพลังงานสะอาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ตอบโจทย์แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องการประหยัดค่าไฟแต่ไม่ต้องการลงทุนเอง ประเมินรายได้ธุรกิจ Solar-Corporate PPA ของไทยมีโอกาสขยายตัวเป็น 37.7-118.2 พันล้านบาท ในปี 2580 หรือขยายตัวถึง 17.5-54.8 เท่า จากปี 2563  คาดผู้​ประกอบการที่มีโอกาสเข้าสู่ธุรกิจนี้ ได้แก่ ผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจรับจ้างติดตั้งโซลาร์เซลล์ ธุรกิจผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

    ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่​ศูนย์วิจัย KrungthaiCOMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ทั่วโลกตื่นตัวกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจพลังงานสะอาด โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เนื่องจากต้นทุนการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ลดลงมาก โดยนอกเหนือจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ธุรกิจ Solar-Corporate PPA ก็เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยผู้ประกอบการเป็นผู้ลงทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ให้แก่ผู้ว่าจ้างหรือผู้ใช้ไฟฟ้าก่อน แล้วจึงเรียกเก็บค่าไฟฟ้าภายหลังซึ่งมักต่ำกว่าอัตรา ค่าไฟที่ซื้อจากภาครัฐ 

“ธุรกิจ Solar-Corporate PPA มีแนวโน้มเติบโตตามกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของโลก ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8,541 พันเมกะวัตต์ ในปี 2593 จากปี 2563 อยู่ที่ 714 พันเมกะวัตต์ หรือขยายตัวสูงถึง 12 เท่า สำหรับในไทย ธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตตามความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ธุรกิจ Solar-Corporate PPA ยังได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐทั้งด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมิใช่ภาษีอีกด้วย”

นางสาวนิรัติศัย ทุมวงษา นักวิเคราะห์อาวุโส กล่าวว่าธุรกิจนี้ในปัจจุบันมี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) แบบ Synthetic เป็นการผลิตและส่งไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิต โดยมีผู้จัดจำหน่ายไฟฟ้าเป็นตัวกลางกระจายไฟฟ้าและมีตลาดกลางการซื้อขายไฟฟ้าทำหน้าที่ตรวจสอบปริมาณการผลิตและการนำจ่ายไฟฟ้า 2) แบบ Sleeved เป็นการผลิตและส่งไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง โดยเช่าสายส่งไฟจากภาครัฐในการนำจ่ายไฟฟ้า และ 3) แบบ Private wire เป็นการผลิตไฟฟ้าบนอาคารหรือในสถานที่ของผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้ในประเทศไทยขณะนี้ โดยปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการน้อยราย ทำให้ภาวะการแข่งขันยังต่ำ นอกจากนี้ ธุรกิจนี้มีกำไรที่สูง โดย EBIT Margin เฉลี่ยอยู่ที่ 22.8% ในช่วง ปี 2560-62 ขณะที่ ผู้รับจ้างติดตั้งโซลาร์เซลล์ และผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์มี EBIT Margin เฉลี่ยเพียง 4.0% และ 3.3% ตามลำดับ

นายพงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า Krungthai COMPASS คาดว่ารายได้ของธุรกิจ Solar-Corporate PPA ของไทยมีโอกาสขยายตัวเป็น 37.7-118.2 พันล้านบาท ในปี 2580 เมื่อเทียบกับปี 2563 หรือขยายตัวถึง 17.5-54.8 เท่า  ทั้งนี้ การเติบโตของ Solar-Corporate PPA ขึ้นอยู่กับ 3 ประเด็นสำคัญที่ภาครัฐควรพิจารณา ได้แก่ 1) การเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเฉพาะ Solar Rooftop ในแผน PDP 2022 ซึ่งจะทำให้ธุรกิจนี้สามารถขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นจากภาคเอกชนและกลุ่มครัวเรือนที่ต้องการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองและขายไฟฟ้าที่เหลือใช้ 2) การอนุญาตให้เช่าสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งจะเปิดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าส่งไฟฟ้าโดยตรงไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าหลายรายได้ในเวลาเดียวกัน และทำให้เกิด Solar-Corporate PPA รูปแบบ Sleeved ในไทย และ 3) การผลักดันให้มีตลาดกลางการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งจะทำให้เกิด Solar-Corporate PPA รูปแบบ Synthetic ในไทย ทั้งนี้ หากมีบริการในรูปแบบ Sleeved และ Synthetic เพิ่มเติมจากแบบ Private wire จะทำให้มีบริการที่หลากหลาย และมีฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนให้ธุรกิจนี้เติบโตดีในระยะข้างหน้า