Krungthai CIO เปิดมุมมองการลงทุนเดือนเมษายน 2567 แนะลงทุนหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กในสหรัฐฯ เพราะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลงมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ พร้อมมองตลาดหุ้นญี่ปุ่นน่าสนใจ จากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ หนุนการเติบโตระยะยาว
ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ธนาคารกรุงไทย (Krungthai Chief Investment Office ) วิเคราะห์ตลาดและการลงทุน ประจำเดือนเมษายน 2567 โดยมองเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออก ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีทิศทางเป็นบวก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ตัวเลขประมาณ GDP ไตรมาส 4/2023 ขยายตัวถึง 3.4% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ จากแรงหนุนของการใช้จ่ายของผู้บริโภคและรัฐบาล รวมทั้งการลงทุนของภาคธุรกิจ ขณะที่ เงินเฟ้อขยายตัวชะลอลงตามที่ตลาดคาด ด้านเศรษฐกิจจีน กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีที่ 10.2% แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนเริ่มต้นปีได้อย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวอ่อนแอ หลังกิจกรรมการผลิตของยูโรโซนยังคงหดตัวต่อเนื่องในเดือนมีนาคม
ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวด้านนโยบายการเงินของประเทศหลักๆ ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่แม้จะคงดอกเบี้ยตามคาด แต่มีการอัพเดทประมาณการ Dot Plot ที่สะท้อนการลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งเท่าเดิมในปีนี้ แต่จำนวนครั้งของการลดอัตราดอกเบี้ยน้อยลงกว่าเดิมในปี 2025 รวมทั้งปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีและเงินเฟ้อในปีนี้ ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี ขณะที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.50% มองว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของประเทศหลักๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่คาดว่า อาจเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้
Krungthai CIO คงมุมมองที่เป็นบวกต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยแนะนำให้ลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กของสหรัฐ ที่จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ประกอบกับ Valuation ที่ไม่ตึงตัวเกินไป ทำให้การลงทุนมีความน่าสนใจกว่าหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งหลังการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย เริ่มเห็นหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็กสหรัฐฯปรับตัวขึ้นโดดเด่นกว่าหุ้นขนาดใหญ่โดยรวม ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และ Global REITs มีความน่าสนใจเมื่ออัตราดอกเบี้ยทยอยปรับตัวลง และเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มแข็งแกร่งและไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย
นอกจากนี้ ยังมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ตลาดหุ้นยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ เนื่องจากตลาดมองว่าเป็นเพียงการปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติเท่านั้น (Policy Normalization) และเมื่อมองไปข้างหน้าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อไป อีกทั้ง ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีปัจจัยสนับสนุนในระยะยาว จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและค่าจ้างที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงการปฏิรูปบรรษัทภิบาลต่อนักลงทุนรายย่อย เกณฑ์ละเว้นภาษีจากการลงทุน NISA ที่สนับสนุนให้นักลงทุนรายย่อยแบ่งเงินออม 1 ล้านล้านเยน บางส่วนมาลงทุนในตลาดหุ้น
ด้านการลงทุนในตราสารหนี้ มองว่า Bond Yield มีโอกาสปรับตัวผันผวนในระยะสั้น จนกว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ยังเห็นโอกาสลงทุนในตราสารหนี้เอกชน โดยเฉพาะตราสารหนี้เอกชนในยุโรป ที่ราคายังไม่ตึงตัวเทียบกับตราสารหนี้เอกชนในสหรัฐฯ และด้วยเศรษฐกิจยุโรปที่ไม่ได้แข็งแกร่งเทียบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ ECB มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเฟด