KKP Research ปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจลงอีกครั้งจาก -2.4% เป็นลงลึกถึง –6.8% จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้หดตัวลึกและยาวนานยิ่งขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้
พัฒนาการที่สำคัญภายหลังจากการประเมินครั้งก่อนที่ส่งผลให้ต้องมีการปรับลดคาดการณ์ GDP ลงในครั้งนี้ ได้แก่
- เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ จากตัวเลขผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้างมากขึ้น ทำให้หลายประเทศมีการประกาศมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อพยายามควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America ล่าสุดปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศหลักลงอย่างหนัก โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะติดลบถึง 6% สหภาพยุโรปติดลบที่ 7.6% และเศรษฐกิจจีนคาดจะขยายตัวได้เพียง 1.2% ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะหดตัวถึง 2.7% จากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดขยายตัว 0.3% ซึ่งจะเป็นการหดตัวที่รุนแรงยิ่งกว่าในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2009
- มาตรการปิดเมืองและ social distancing ที่เข้มข้นขึ้น รัฐบาลไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมกับเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ มีการประกาศปิดร้านค้า ร้านอาหาร และสถานที่ต่างๆ เป็นวงกว้าง รวมถึง
ล่าสุดมีการประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศมากกว่าที่เคยประเมินไว้ - การประกาศปิดการเข้าออกระหว่างประเทศ รวมทั้งการประกาศปิดเมืองในหลายจังหวัดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดข้ามจังหวัด จะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและภายในประเทศได้รับผลกระทบหนักขึ้นไปอีกจากที่เคยคาดไว้ใน
การประเมินครั้งก่อน
เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19 นี้จะทำให้เกิดภาวะการว่างงานเป็นวงกว้าง โดยภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ โรงแรมและร้านอาหาร ภาคการค้า และภาคการขนส่ง มีการจ้างงานรวมถึง 10.1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ และในจำนวนนี้เป็นการจ้างงานนอกระบบถึง 5.6 ล้านคน หรือ 55% ดังนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อธุรกิจเหล่านี้จะส่งผลให้แรงงานจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้างหรือถูกขอให้หยุดงานชั่วคราว นอกจากนี้ ภาคธุรกิจอื่น ๆ เช่น ภาคการผลิต ภาคการก่อสร้าง และบริการอื่น ๆ ก็จะได้รับผลกระทบจาก
อุปสงค์ที่ลดลงด้วยเช่นกัน KKP Research คาดว่าอาจมีการว่างงานสูงถึง 5 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 13% ในช่วงกลางปีนี้ ก่อนที่สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี
แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐได้มีมาตรการด้านโยบายการคลังและการเงินออกมาเพื่อตอบสนองกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่
KKP Research มองว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนในสามด้านใหญ่ คือ
- ทบทวนและจัดสรรงบประมาณอย่างเร่งด่วนให้กับงานด้านสาธารณสุขเพื่อสร้างความสามารถในการตรวจ สอบสวนความเชื่อมโยง คัดแยก และรักษาผู้ติดเชื้อ และจัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมและมีคุณภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การควบคุมการระบาดของโรคทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- มีมาตรการทางการคลังระยะสั้นเพื่อเยียวยา และลดภาระของผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ของรัฐ รวมไปถึงเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับแรงงานในระยะต่อไป
- จัดเตรียมมาตรการด้านการเงินเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในระบบการเงิน เช่น เตรียมมาตรการรองรับปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน มาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการผลักดันสภาพคล่องในระบบการเงินช่วยเหลือธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้
ที่มา: KKP Research