Key Highlights

0
1347

 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 7.9% (YoY) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนจากราคาอาหารที่สูงขึ้นตามต้นทุนและปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศจากฝนที่ตกหนักทำให้ราคาผักและผลไม้ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามราคาพลังงานชะลอลงตามราคาน้ำมันจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง

 Krungthai COMPASS มองอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 2022 มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง จากต้นทุนที่ทรงตัวสูงเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับขึ้นราคาสินค้าที่กระจายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น จับตาการปรับขึ้นค่าไฟในงวด ก.ย.-ธ.ค. และการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเดือน ต.ค. ที่จะทยอยสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

ฉมาดนัย มากนวล
Krungthai COMPASS

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นที่ 7.9% จากราคาหมวดอาหารที่ปรับสูงขึ้น
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. อยู่ที่ 7.9% (YoY) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ 7.6% (YoY) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี สอดคล้องนักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 7.85% ปัจจัยหลักจากราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 10.3% (YoY) เทียบกับ 7.8% (YoY) เมื่อเดือน ก.ค. จากฝนตกหนักและน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูกส่งผลให้ราคาผักและผลไม้ปรับสูงขึ้น และจากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ราคาไข่และเนื้อสัตว์ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน) เร่งตัวขึ้นมาสู่ระดับ 3.2% (YoY) เทียบกับ 3.0% เมื่อเดือน ก.ค. ตามราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ชะลอตัวตามความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงลงในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 6.1% ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2


Implication:
• Krungthai COMPASS มองอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปียังอยู่ในระดับสูง และอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2022 มีแนวโน้มสูงกว่าประมาณการเดิมที่ 6.1% สาเหตุสำคัญจากแนวโน้มต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานส่งผลให้ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นกระจายตัวไปยังหลายหมวดมากขึ้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงาน) ที่เร่งตัวขึ้น 3.2% โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารเพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และหมวดเคหสถานเพิ่มขึ้นจากค่ากระแสไฟฟ้าและราคาก๊าซหุงต้มที่ปรับสูงขึ้น มองไปในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการไปยังราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นสูงในอัตราเลขสองหลัก ทั้งนี้ต้องจับตาการปรับเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าในงวดเดือน ก.ย.–ธ.ค. และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่จะทยอยส่งผ่านและสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะต่อไปข้างหน้า