Key Highlights

0
1297

 กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยเสียงข้างน้อยเห็นควรให้ปรับขึ้นร้อยละ 0.50 ต่อปี ทั้งนี้ กนง. มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งคาดว่า GDP จะกลับเข้าสู่ระดับเดิมก่อนการแพร่ระบาดได้ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจอยู่ในระดับสูงเกินกรอบเป้าหมายอีกระยะหนึ่ง ก่อนทยอยปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2023

 Krungthai COMPASS มองว่าเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25-50 bps ในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดขึ้น จากการที่คณะกรรมการเสียงข้างมากถึง 6 ต่อ 1 ท่านที่ลงมติให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 0.75 ต่อปี และมีกรรมการเสียงข้างน้อย 1 ท่านเห็นควรให้ปรับขึ้นถึงร้อยละ 0.50 ต่อปี ประกอบกับการประเมินภาพเศรษฐกิจของ กนง. ที่ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด สอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น และมีโอกาสแตะระดับ 7-8 ล้านคนในปี 2022

ฉมาดนัย มากนวล
Krungthai COMPASS
กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25 ต่อปี ส่วนเสียงข้างน้อยเห็นควรขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.50 ต่อปี
กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ในการประชุมครั้งที่ 4/2022 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25 ต่อปี สู่ระดับร้อยละ 0.75 ต่อปี ถือเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2018 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
• เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น คาดว่า GDP จะกลับเข้าสู่ระดับเดิมก่อนการระบาดของ COVID-19 ได้ภายในสิ้นปีนี้ โดย ธปท. มองว่า GDP รายไตรมาสมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และการขยายตัวเทียบไตรมาสก่อนหน้าในช่วงต่อไปอาจสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนการแพร่ระบาด ปัจจัยหนุนการฟื้นตัวที่สำคัญมากจากการฟื้นตัวดีขึ้นกว่าคาดของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะแรงส่งชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่องตามการ ปรับดีขึ้นของตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือน
• อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจอยู่ในระดับสูงเกินกรอบเป้าหมายอีกระยะหนึ่ง ก่อนทยอยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2023 จากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่ทยอยคลี่คลายตามราคาพลังงานโลก อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังเงินเฟ้อพื้นฐานที่อาจมากและเร็วกว่าคาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา
• มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเห็นความสำคัญของมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีสภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง
• ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายแต่มีความผันผวนมากขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบ ดอลลาร์ สรอ. ปรับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค ตามการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. เป็นหลัก จากความกังวลต่อสินทรัพย์เสี่ยงภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

Implication:
• Krungthai COMPASS มองว่าเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25-50 bps ในช่วงที่เหลือของปี ประเมินจากการส่งสัญญาณของ กนง. ที่คณะกรรมการเสียงข้างมากถึง 6 ต่อ 1 ท่านที่ลงมติให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 0.75 ต่อปี และมีกรรมการเสียงข้างน้อย 1 ท่านเห็นควรให้ปรับขึ้นถึงร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยไม่มีกรรมการท่านใดเห็นควรให้คงดอกเบี้ย สะท้อนท่าทีเข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ กนง. ยังระบุว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในช่วงที่ผ่านมาจึงมีความจำเป็นลดลง รวมทั้งมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง คาดว่า GDP จะกลับเข้าสู่ระดับเดิมก่อนการแพร่ระบาดภายในสิ้นปีนี้ โดยมีแรงส่งชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด สอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังยกเลิกมาตรการ Thailand Pass คาดว่ามีโอกาสแตะระดับ 7-8 ล้านคนในปี 2022
• ด้านอัตราเงินเฟ้อ กนง. คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ก่อนทยอยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2023 แต่แสดงความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังเงินเฟ้อพื้นฐานที่อาจมากและเร็วกว่าคาด บ่งชี้ถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดแรงกดดันเวินเฟ้อที่เริ่มกระจายเป็นวงกว้าง เป็นไปในทางเดียวกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีจะอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปีซึ่งอยู่ที่ 5.9% โดยอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2022 อยู่ที่ 6.1% Krungthai COMPASS จึงมองว่า กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25-50 bps ในช่วงที่เหลือของปี รวมเป็น 50-75 bps ในครึ่งปีหลัง