วันที่ 6 ตุลาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการแถลงข่าว เรื่อง “เยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรง ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยสำหรับเยาวชน ที่ วช. ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประธานกล่าวเปิดการแถลงข่าว พร้อมด้วยนักวิจัยและสื่อมวลชนร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องโถงศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชั้น 1 อาคาร วช. 8
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทุนวิจัยของประเทศ ได้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงทางสังคม ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงได้สนับสนุนแผนงานวิจัยสังคมไทยไร้ความรุนแรงเพื่อให้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทยให้ปลอดภัยจากความรุนแรงในสังคมที่ครอบคลุมในมิติต่าง ๆ นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายหนึ่งที่สำคัญสำหรับการวิจัยที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ทางสังคมให้กับคนไทยได้อย่างมั่นคง และสามารถนำไปสู่การลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน ในวันนี้ วช. ได้ยกประเด็น 4 ประเด็นหลัก เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงในสังคมไทย ดังนี้ 1. การแก้ปัญหาสถานการณ์เยาวชนกับความรุนแรงในสังคมไทย
ซึ่งเป็นผลงานภายใต้ โครงการวิจัย สถานการณ์เยาวชนกับความรุนแรงในสังคมไทย: กรณีศึกษางานวิจัย “ครอบครัวพลังบวก” โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เป็นหัวหน้าโครงการ โดยนำหลักการพัฒนาระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษาชุมชน มุ่งสร้างครอบครัวพลังบวก รวมไปถึงการให้ความรัก ความอบอุ่น และความปลอดภัยที่มีอยู่ในสมาชิกของทุกคนเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะครอบครัวคือหน่วยในการสร้างพลเมืองที่ดีของสังคมไทย 2. การแก้ปัญหาติดเกมในเด็กและเยาวชนไทยในช่วงอายุ 6-25 ปี
ซึ่งเป็นผลงานภายใต้ โครงการวิจัย “การศึกษาปัญหาติดเกมในเด็กและเยาวชนไทยอายุ 6-25 ปี” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วัลลภ อัจสริยะสิงห์ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมอบหมายให้ นางสาวณัฐพร กังสวิวัฒน์ เป็นผู้แถลงผลดำเนินการวิจัย ปัจจุบันโลกออนไลน์รวมถึงเกมได้รับความนิยม เป็นอย่างมาก ความท้าทายในการแก้ปัญหาเด็กติดเกม คือ การเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตัวเองให้เด็กไปพร้อม ๆ กับการเอาชนะอิทธิพลทางสังคมที่อาจส่งผลให้เด็กขาดการเห็นคุณค่าในตนเอง ผลงานวิจัยนี้เด็กและวัยรุ่นได้รับความรู้เรื่องการเล่นเกมอย่างเหมาะสม ส่วนผู้ปกครองได้รับความรู้เรื่องการดูแลเรื่องการเล่นเกมของลูกหลาน ได้ข้อเสนอแนะถึงแนวทางการแก้ปัญหาการติดเกมในเด็กและเยาวชนไทย 3. การป้องกันความรุนแรงในสังคมไทย: โปรแกรมเด็กรุ่นใหม่ใจเย็น ๆ การฝึกทักษะชีวิตในการจัดการความโกรธในวัยเด็ก
ซึ่งเป็นผลงานวิจัยภายใต้ โครงการวิจัย “การศึกษาประสิทธิผลของการดำเนินการตามโปรแกรมการฝึกทักษะชีวิตในการจัดการความโกรธตามวิถีพุทธในวัยเด็กตอนปลาย :โปรแกรมเด็กรุ่นใหม่ใจเย็น ๆ” โดยมี ดร.หรรษา เศรษฐบุปผา จาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย งานวิจัยนี้สามารถสร้างลักษณะนิสัยให้เด็กใจเย็นจากการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาผ่านสื่อที่สนุกสนานและน่าสนใจ มีการถ่ายทอดความรู้เหมาะสมกับวัย และพัฒนาทักษะเป็นลำดับขั้นตอนโดยมุ่งเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามในการสร้างทักษะชีวิตในการจัดการความโกรธในเด็กตอนปลาย 4. ความรุนแรงในสังคมไทยที่ต้องร่วมมือในการแก้ไขทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นผลงานภายใต้ แผนงานวิจัย “สังคมไทยไร้ความรุนแรง (ปีที่ 3)”
โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง สังกัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย แผนงานวิจัยนี้ ได้สร้างฐานข้อมูลความรุนแรงในสังคมไทย และฐานข้อมูลความรุนแรงในครอบครัวเพื่อใช้ศึกษานโยบายและสร้างมาตรการความร่วมมือระหว่างเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการลดความรุนแรงในสังคมไทย และนำแนวทางปฏิบัติที่ดีในการป้องกันและแก้ไขความรุนแรงไปปฏิบัติเพื่อลดความรุนแรงในพื้นที่เป้าหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานปฏิบัติใน 5 มิติ ประกอบด้วย นโยบาย การป้องกันการใช้ความรุนแรง การคุ้มครอง การดำเนินคดี และการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง
จากเหตุการณ์กราดยิงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน วช. ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และขอเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวของผู้สูญเสีย และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทุกท่าน ทั้งนี้ วช. ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม โดยผลักดันการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่จะใช้เป็นแนวทางในการป้องกัน แก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวทางจากงานวิจัยจะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมกันทำให้สังคมไทยเป็น “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” อย่างแท้จริง