KBank Private Banking แนะนำกลยุทธ์ปรับพอร์ตการลงทุน  รับมือเศรษฐกิจชะลอตัวควบคู่ผันผวน จากวิกฤติซ้อนวิกฤติ

0
1287

 KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) เผยมุมมองการลงทุนในไตรมาสสอง แม้ยังพบวิกฤติหลายด้าน ทั้งร่องรอยความเสียหายจากโควิด ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ยังมีโอกาสจากตลาดหุ้นที่ราคาปรับลงจนอยู่ในจุดที่น่าซื้อสะสม พร้อมแนะนำ 5 แนวทางการลงทุน เพื่อผลตอบแทนมั่นคงในระยะยาว

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Executive Chairman ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “สถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันมีความท้าทายสูง สืบเนื่องจากสภาวะตลาดที่ผันผวนจากวิกฤตการณ์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ร่องรอยความเสียหายจากโควิด ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าและภาวะเงินเฟ้อในทั่วทุกมุมโลก นอกจากนี้ยังเกิด วิกฤติหุ้นกู้จีน ซึ่งเป็นผลจากนโยบายทางการเมืองเพื่อจัดระเบียบเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้เกิดภาวะการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และพลอยสร้างความเสียหายให้กับตลาดหุ้นจีนด้วย ในขณะที่ ภาวะเงินเฟ้อ ยังทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นทั่วโลกปรับลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มที่ได้ประโยชน์ในช่วงโควิด ยิ่งไปกว่านั้น โลกยังต้องจับตามองความไม่แน่นอนจาก สงครามรัสเซียยูเครน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนหลายประเทศต่างพากันคว่ำบาตรประเทศรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไม่หยุด และหลายฝ่ายเกรงว่าอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อราคาพลังงาน”

จากเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อเนื่องกันอย่างรุนแรงและรวดเร็วในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ จนนักลงทุนบางส่วนปรับพอร์ตการลงทุนไม่ทัน คำถามคือ ถึงจุดนี้ยังควรปรับพอร์ตหรือไม่ และปรับอย่างไร KBank Private Banking ขอเสนอ 5 แนวทางการปรับพอร์ตสำหรับนักลงทุนระยะยาว เพื่อรับมือกับวิกฤติซ้อนวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลก

  1. 1. ถือหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี: แม้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวลงแรงในช่วงต้นปี แต่เมื่อดูราคาหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีในหลายกลุ่ม จะพบว่าราคาลงมาต่ำมาก เมื่อเทียบกับราคาในอดีตและมูลค่าพื้นฐาน และหากสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย หุ้นในกลุ่มบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขัน มีส่วนแบ่งการตลาดสูง รวมถึงมีการเติบโตของรายได้และกำไรในระดับสูงจะปรับตัวขึ้นได้ดี เพราะมีคนรอซื้ออยู่มาก อย่างไรก็ตาม หากขายในช่วงนี้เพื่อรอซื้อใหม่แต่จับจังหวะผิด อาจพลาดการทำกำไรช่วงตลาดฟื้นตัวและจมอยู่กับผลขาดทุนได้
  2. 2. ทยอยเข้าซื้อหุ้นดีราคาถูก: หากนักลงทุนได้มีโอกาสขายทำกำไรไปก่อนหน้านี้แล้ว และถือเงินสดอยู่บ้าง น่าจะทยอยเข้าซื้อหุ้นดีราคาถูกที่มีโอกาสฟื้นตัวเร็ว เช่น หุ้นกลุ่มผู้ชนะในเศรษฐกิจใหม่ ที่ราคาลงมาลึก แต่ผลประกอบการดีเกินคาด
  3. 3. เปลี่ยนการลงทุนเข้าหากลุ่มที่จะฟื้นตัวได้เร็ว: สำหรับพอร์ตที่ลงทุนเต็มที่แล้ว ยังพอมีทางเลือกอีกวิธีเพื่อฟื้นพอร์ตกลับมาอีกครั้ง ด้วยการสลับกองทุน (Switching) เข้าหากลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้เร็วเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ดีกว่าการขายออกแล้วถือเงินสด เช่น ขายกองทุนที่ราคาลงไม่มากไปซื้อกองทุนที่ราคาลงมากกว่า โดยเน้นกลุ่มที่ยังมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และมีโอกาสฟื้นตัวได้มากกว่า 
  4. 4. ปรับพอร์ตเพื่อเตรียมรับวัฎจักรเศรษฐกิจ: เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง นักลงทุนควรเริ่มการปรับพอร์ตเพื่อเตรียมตัวรับวัฎจักรเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เช่น ภาวะเงินเฟ้อสูงระยะยาวร่วมกับเศรษฐกิจที่โตระดับต่ำ (Stagflation) ในกรณีนี้นักลงทุนอาจเลือกลดการถือครองหุ้นที่โตช้าไปตามวัฎจักรเศรษฐกิจ อาทิ กลุ่ม Laggard & Cyclical เช่น กลุ่มการเงิน หรือหุ้นยุโรป ลดการถือครองพันธบัตรและหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนต่ำและราคาลดลงหากดอกเบี้ยปรับขึ้น และเพิ่มการลงทุนที่ได้ประโชน์จากเงินเฟ้อ อาทิ สินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือหุ้นเติบโตสูง เป็นต้น
  5. 5. เลือกกองทุนที่มีการบริหารแบบเชิงรุก (Actively Managed): ในภาวะผันผวนสูง ถือเป็นการดีสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่เลือกกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนช่วยบริหารพอร์ตแบบเชิงรุก เพราะผู้จัดการกองทุนจะทำหน้าที่เป็นแนวหน้าให้นักลงทุนในการปรับพอร์ตของกองทุนที่ถืออยู่ อาทิ การปรับการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ โดยลดอายุของพันธบัตรและหุ้นกู้ลงเพื่อลดผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การปรับกองทุนหุ้นด้วยการลดการลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติการณ์ และการปรับกองทุนผสมด้วยการปรับลดสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตลง เป็นต้น

นายจิรวัฒน์ กล่าวตอนท้ายว่า ในช่วงวิฤติเศรษฐกิจเช่นนี้อาจะเป็นข้อได้เปรียบของนักลงทุนระยะยาวที่มีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลปรับพอร์ตให้ อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าการลงทุนระยะยาวนั้น คือ การถือครองการลงทุนเพื่อผ่านทุกวัฎจักรเศรษฐกิจ โดยจะมีทั้งช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเติบโตและชะลอลงบ้าง การถือพอร์ตในระยะยาวอาจต้องผ่านช่วงวิกฤติและพบการสูญเสียในบางครั้ง แต่เมื่อเทียบกับการลงทุนในช่วงเวลาเศรษฐกิจขาขึ้นที่มีมากกว่าแล้ว ผลตอบแทนเฉลี่ยก็ยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย ระหว่างทางเพียงต้องปรับส่วนผสมของพอร์ตเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์บ้างเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการลงทุน 

หมายเหตุ ตำแหน่งผู้บริหารเขียนทับศัพท์ภาษาไทย:

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ ไพรเวท แบงกิ้ง กรุ๊ป-เอ๊กซ์คูทีฟ แชร์แมน ธนาคารกสิกรไทย

กองทุนปิด K- HIT และ K- CHANGE

  • ระดับความเสี่ยงกองทุน : ระดับ 6
    ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน : ป้องกันบางส่วน
  • โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า/เงื่อนไขผลตอบแทน/ความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
  • ผู้ลงทุนควรขอข้อมูลและคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้แนะนำการลงทุนก่อนตัดสินในลงทุน

เกี่ยวกับ KBank Private Banking 

KBank Private Banking ให้บริการการบริหารความมั่งคั่งอย่างครบวงจร ด้วยมาตรฐานระดับสากล แก่ลูกค้าธนาคารกสิกรไทย ที่มีเงินฝากและเงินลงทุนกับธนาคาร ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยให้บริการในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษา สร้างความเติบโต และส่งต่อความมั่งคั่ง ครอบคลุมทุกประเภททรัพย์สิน ทั้งทรัพย์สินทางการเงิน ธุรกิจครอบครัว อสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอื่นๆ ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรระดับโลก Lombard Odier ทำให้ KBank Private Banking สามารถตอบสนองทุกโอกาสการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งมอบความมั่งคั่งที่สมบูรณ์แบบและชีวิตที่ไร้กังวล แก่ลูกค้าคนสำคัญของธนาคาร