KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier พันธมิตรทางธุรกิจ ไพรเวทแบงก์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ จัดงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “Sharp Turns or Bumpy Bends: From Crisis to Recovery” เพื่อเจาะลึกแนวโน้มและความร้อนแรงของเศรษฐกิจ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถกลับมาดำเนินได้อย่างปกติ หลังการเร่งฉีดวัคซีน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นแรงกว่าที่คาดและผลกระทบต่อตลาดทุนที่นักลงทุนต้องรู้ เพื่อให้พอร์ตการลงทุนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในหลังการเปิดเมืองในหลายๆ ประเทศโดยมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์การลงทุนระดับโลกของ Lombard Odier
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า KBank Private Banking และ Lombard Odier ยังคงมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ว่าจะยังเติบโตได้ดี หนุนโดยการเร่งฉีดวัคซีน การเดินหน้าเปิดเมือง รวมถึงนโยบายการเงินและการคลังที่ยังผ่อนคลาย โดยตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนมากยังบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น และขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวในแต่ละภาคธุรกิจ รวมถึงภูมิภาคนั้นเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ภาคบริการมีแนวโน้มนำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง หลังจากที่การค้าและการบริโภคฟื้นตัวได้ดีก่อนหน้านี้และมีแนวโน้มถึงจุดสูงสุดแล้ว ในขณะที่เศรษฐกิจแต่ละประเทศก็ฟื้นตัวไม่พร้อมกัน โดยจีนได้ฟื้นตัวนำหน้าไปแล้ว ตามมาด้วยสหรัฐฯ และในตอนนี้ที่ยุโรป ส่วนประเทศเกิดใหม่น่าจะฟื้นตัวในลำดับถัดไป โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวสูงสุดในไตรมาส 3 ของปี
- จีน: เศรษฐกิจจีนจะยังคงแข็งแกร่งในปีนี้ แต่มาตรการทางการเงินและการคลังจะเริ่มลดลงเพื่อลดความร้อนแรง ดังนั้นเราจะเห็นเศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่ชะลอลง
- สหรัฐฯ: การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ได้รับแรงหนุนหลักจากสหรัฐฯ ซึ่งต่างจากช่วงที่ผ่านมาที่จีนเป็นส่วนสำคัญการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
- ยุโรป: แม้ยุโรปจะเริ่มฉีดวัคซีนช้ากว่าสหรัฐฯ แต่ก็สามารถเร่งการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะหนุนภาคบริการที่เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจยุโรป นอกจากนี้เศรษฐกิจยุโรปยังมีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งวงเงิน Recovery Fund และธนาคารกลางยุโรปก็ยังคงมาตรการผ่อนคลาย
ด้านนางสาวศิริพร สุวรรณการ Managing Director – Private Banking Financial Advisory Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้เศรษฐกิจทั่วโลกทยอยฟื้นตัว แต่ความเสี่ยงบางอย่างยังคงมีอยู่ โดยความเสี่ยงที่สำคัญยังคงเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทั่วโลกได้รับวัคซีนช้าเท่าไหร่ เชื้อก็ยิ่งมีโอกาสกลายพันธ์สูงขึ้นเท่านั้น อีกหนึ่งความความเสี่ยงก็คือเศรษฐกิจที่เติบโตจนร้อนแรงเกินไป ทำให้ต้องถอนมาตรการทางการคลังและการเงินเร็วเกินกว่าที่ตลาดคาด ในด้านความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่กดดันตลาดในช่วงครึ่งปีแรก ธนาคารยังมองว่าเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น แม้ว่าเงินเฟ้อจะเริ่มปรับเพิ่มขึ้น แต่เรายังคงอยู่ในยุคของเงินเฟ้อต่ำ นอกจากนี้ หากพิจารณาส่วนประกอบที่เร่งตัวขึ้นยังไม่น่ากังวล และจะไม่ยืดเยื้อในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น 1) การขาดแคลนสินค้าที่ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้นเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น จากการที่ความต้องการโลกฟื้นตัว 2) เงินเฟ้อสหรัฐฯที่เร่งขึ้นมาจากฐานต่ำ (เช่น ราคาน้ำมัน รถมือสอง และตั๋วเครื่องบิน) 3) เงินเฟ้อสหรัฐฯ เร่งขึ้นจากบางสินค้าเท่านั้น ส่วนประกอบสำคัญอย่างค่าเช่าบ้านยังคงอยู่ในระดับต่ำ 4) เงินเฟ้อประเทศอื่นๆ ได้ปรับเพิ่มขึ้น จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับไม่น่ากังวล
ในด้านความกังวลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะเริ่มผ่อนคลายนโยบายและถอนสภาพคล่อง ล่าสุดในการประชุม FOMC เดือนมิถุนายน เฟดได้ปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีการจ้างงาน และเงินเฟ้อ สำหรับปี 2565 และ 2566 เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นการปรับให้สอดคล้องกับมุมมองของตลาดเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญจากการประชุม คือ 1) คณะกรรมการคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 2) เฟด ได้เริ่มหารือเกี่ยวกับการลดการซื้อสินทรัพย์แล้ว ทั้งนี้ มุมมองของธนาคารต่อการดำเนินนโยบายของเฟดคือ
- เริ่มส่งสัญญาณลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ระหว่างเดือนสิงหาคมในการประชุมที่ Jackson Hole จนถึงปลายปีนี้
- เริ่มลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงธันวาคม 2565 เดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกกลางปี 2566 โดยการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2566 ถือว่ามีโอกาสสูง และอยู่ในวิสัยที่เหมาะสม
ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ Managing Director – Private Banking Business Head กล่าวว่า จากมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ ธนาคารแนะนำ 10 กลยุทธ์การลงทุนสำหรับช่วงครึ่งปี ได้แก่
- ลงทุนต่อเนื่องในสินทรัพย์เสี่ยง (Stay invested in risky assets) จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีในปีนี้ จะช่วยหนุนกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเพียงชั่วคราวจะยังหนุนสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นให้ไปต่อได้
- ลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักร และ Value ที่ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว (Capture the recovery with cyclical and value stocks) ปัจจุบันหุ้น Growth นั้นถูกซื้อขายที่ราคาสูงกว่าหุ้น Value อยู่มาก นอกจากนี้ แนวโน้มผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับสูงขึ้น จะเป็นแรงหนุนให้กับหุ้น Value มากกว่าหุ้น Growth
- อย่าพลาดการลงทุนในหุ้นยุโรป (Don’t miss Pan-European equities) เพราะหุ้นยุโรป และหุ้นอังกฤษ มีระดับ Valuation ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และมีศักยภาพการเติบโตของกำไรสูง
- ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะปรับเพิ่มขึ้น (Yields to move up at a regular pace) โดยประเมินผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ 2% ณ สิ้นปี 2564 และ 2.5% ในช่วงปลายปี 2565 สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของดอกเบี้ยนโยบายเฟด
- ลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ดอกเบี้ยสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในจีน (Use carry strategies to generate yield) เพราะ โดยเฉลี่ยตราสารหนี้จีนให้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่มีอายุเท่ากันถึง 1.5% นอกจากนั้น ตราสารหนี้จีนจะได้ประโยชน์จากทิศทางเงินหยวนที่แข็งค่าอีกด้วย
-
- คงมุมมองบวกต่อค่าเงินหยวน และหาจังหวะเข้าซื้อค่าเงินยูโร (Remain overweight RMB and look for attractive entry points on EUR) เราคาดว่าเงินหยวนจะแข็งค่าสู่ระดับ 6.22 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี หนุนโดยส่งออกและดุลการชำระเงินที่แข็งแกร่ง ขณะที่ยูโรจะแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.23 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 ยูโร ภายในสิ้นปีนี้
- คงมุมมองว่าดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนค่า (Remain slightly bearish on the dollar) จากข้อมูลในอดีต ดอลลาร์สหรัฐฯ มักอ่อนค่ากว่ามูลค่าที่เหมาะสม เมื่อเศรษฐกิจโลกเติบโตได้ดี ดังเช่นในปัจจุบัน
- ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวลดลง (Remain bearish on gold) ทองคำจะถูกกดดันจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ทั้งนี้ เราคาดว่า ณ สิ้นปีนี้ ราคาทองคำจะอยู่ที่ระดับ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์
- มองหุ้นโครงสร้างพื้นฐานให้ผลตอบแทนโดดเด่น (Infrastructure should outperform) หนุนโดยแผนการฟื้นฟูของสหรัฐฯ และยุโรปที่พุ่งเป้าไปยังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก เราจึงคาดว่าราคาหุ้นกลุ่มนี้จะสามารถปรับขึ้นได้ดี หนุนโดยกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าต่อเนื่อง
- การลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จะเป็นกุญแจสำคัญของพอร์ตแห่งอนาคต (Sustainability is a key driver of portfolio performance) บริษัทที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน จากการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ เช่น บริษัทน้ำมันที่เปลี่ยนธุรกิจ ไปสู่การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หรือระบบโซลาร์เซลล์แทน โดยในระยะยาว บริษัทเหล่านี้ถือเป็นผู้นำเทรนด์เศรษฐกิจในโลกอนาคต
เพื่อสร้างโอกาสและคว้าผลตอบแทนเพิ่มเติมในยุคเปิดเมือง ธนาคารยังแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน 1) สินทรัพย์ทางเลือก: ไม่ว่าจะเป็นหุ้นนอกตลาด REITs ไปจนถึงกลยุทธ์การลงทุนแบบ Hedge Fund หรือ Structured Notes จะช่วยแสวงหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมในช่วงตลาดที่หลากหลาย และมีความผันผวนสูง 2) หุ้นกู้เอกชนจีน: เนื่องจากดอกเบี้ยในฝั่งประเทศเกิดใหม่ยังน่าสนใจกว่าประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ ตลาดหุ้นกู้จีนก็มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยการลงทุนในหุ้นกู้จีนในบริษัทที่ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และมีการเติบโตของกำไรสุทธิที่ดีคาดว่าจะช่วงพยุงพอร์ตโดยรวมได้ดี สำหรับการคัดสรรหุ้นกู้คุณภาพมีความสำคัญ ในทางกลับกัน ก็ให้ลดน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพราะจะได้รับผลกระทบจากบอนด์ยีลด์ขาขึ้นที่จะทำให้ราคาปรับลง รวมถึงอัตราผลตอบแทนก็ต่ำมาก อาจไม่สามารถชดเชยกับแนวโน้มราคาที่ปรับลงได้
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในตอนท้ายว่า ท่ามกลางสภาวะตลาดปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง แต่แนวโน้มเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังการเปิดเมือง ธนาคารยังคงเชื่อมั่นว่าการลงทุนระยะยาว ผ่านการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในระยะสั้น อีกทั้งยังคงเน้นการลงทุนหุ้นในธีม Winner of New Economy, Health is Wealth, Save the World และ Laggard and Cyclical Upturns ที่ล้วนมีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะ รวมไปถึงความสามารถในการคัดเลือกหุ้นของผู้จัดการกองทุนชั้นนำของโลก จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว