KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier คงมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจโลก ที่อัตราการเติบโตกลับเข้าสู่ระดับปกติ แนะ 7 กลยุทธ์การลงทุน  ชูหุ้น Cyclical – Infrastructure และ Private Asset  หวังเพิ่มผลตอบแทนให้พอร์ตลงทุน 

0
1392

KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier พันธมิตรทางธุรกิจ ไพรเวทแบงก์ระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ จัดงานสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “BACK TO GROWTH AS WE KNOW IT?” เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ที่เติบโตในอัตราที่ชะลอลง  ด้วยแรงหนุนจากนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เร่งตัวหลังการทยอยเปิดเมือง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังกังวลจากสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว แต่เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น (Stagflation) ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักลงทุนต้องเตรียมพร้อม และปรับกลยุทธ์การลงทุนตามสถานการณ์โลกเพื่อรักษาผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนให้ยั่งยืน โดยมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และกลยุทธ์การลงทุนระดับโลกของ Lombard Odier

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตลอดปี 2564 มีหลายเหตุการณ์และความเคลื่อนไหวสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของดัชนี MSCI All Country World Index ไม่ว่าจะเป็น

  • ปรากฏการณ์ GameStop ที่ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 900% ภายในช่วงเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ จากการที่นักลงทุนรายย่อยผนึกกำลังต่อสู้กับสถานะการลงทุนของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ จนบรรดาเฮดจ์ฟันด์ยักษ์ใหญ่ต้องเสียหายกันอย่างหนัก
  • เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด ความกดดันจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา จนตลาดเกิดความกังวลว่า FED จะต้องเข้มงวดนโยบายเร็วกว่าที่คาด กดดันแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ก่อนที่ประเด็นดังกล่าวจะผ่อนคลายลงหลังตลาดรับรู่ว่าเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นเป็นเพียงชั่วคราว และจะค่อยๆ หายไปต่อจากนี้
  • Archegos Capital กับการกู้ลงทุนจนเกินตัว โดยเฮดจ์ฟันด์ดังกล่าวที่ได้ทำการกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการเก็งกำไรในระดับที่สูงผิดปกติ และเมื่อขาดทุนจนต้องถูกบังคับขายหุ้นล็อตใหญ่ออกมา ส่งผลให้หลายๆ ธนาคารที่ทำธุรกรรมให้ Archegos Capital เจ็บตัวกันหนัก
  • การแพร่ระบาดของสายพันธ์เดลต้า ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนในตัวเลขเศรษฐกิจ เช่น การใช้จ่ายภาคเอกชนที่หดตัวลง และภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงอ่อนแอเช่นเดิม 
  • มาตรการควบคุมบริษัทเอกชนของรัฐบาลจีน โดบเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น การเงิน e-commerce การศึกษา เกมออนไลน์ ที่ทางการจีนต้องการที่ลดการผูกขาดของบริษัทรายใหญ่ เพิ่มการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ลดความไม่เท่าเทียม เพิ่มความเข้มงวดต่อความปลอดภัยของข้อมูลผู้บริโภค และเพิ่มการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Common Prosperity) 
  • ผลการประชุม FED ที่ออกมาเป็นกลาง โดยส่งสัญญาณลดการซื้อสินทรัพย์ว่าอาจจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้จนถึงกลางปีหน้า และ การคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0-0.25% เช่นเดิม แต่การขึ้นดอกเบี้ยมีโอกาสเร็วขึ้น มาเป็นในปี 2565 ส่งผลให้ Bond Yield สหรัฐฯ 10 ปีปรับขึ้นมาอยู่เหนือ 1.4% อีกครั้ง อย่างไรก็ดี FED ยังมีโอกาสที่จะเลื่อนการลดการซื้อสินทรัพย์ออกไปได้ หากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ 
  • ความกังวลเรื่องผิดนัดชำระหนี้ของ China Evergrande ที่ตลาดตื่นตระหนกว่าจะส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ในวงกว้างจนเกิดแรงเทขายในทั้งตลาดตราสารหนี้ และหุ้นจีน   

ปัจจุบันกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับมาสู่ภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าเริ่มคลี่คลายในบางภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสหรัฐฯ และยุโรป ส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวและการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังมีความกังวลจากการที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว แต่เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น (Stagflation)  ทั้งนี้ KBank Private Banking และ Lombard Odier ยังคงมุมมองบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกในอีกหลายไตรมาสและหลายปีต่อจากนี้ 

ด้านนางสาวศิริพร สุวรรณการ Managing Director – Private Banking Financial Advisory Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า วัฏจักรของเศรษฐกิจโลกไม่ได้อยู่ในภาวะอันตราย เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่วัฏจักรที่เติบโตในอัตราปกติ หลังจากที่ฟื้นตัวจากวิกฤตมาแล้ว โดยมี 7 เหตุผลหลักสนับสนุน คือ 

    1. เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับเข้าสู่แนวโน้มก่อนโควิด อัตราการเติบโตกลับสู่ระดับปกติ วัฎจักรกลับสู่สภาวะที่มั่นคงขึ้น เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่เฟสใหม่ของการฟื้นตัว ที่จะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะการฟื้นตัวอย่างเร็วและแรง ย่อมตามด้วยการเติบโตในอัตราที่ชะลอเพื่อเข้าสู่ภาวะปกติ
  • จุดสูงสุดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยสายพันธุ์เดลต้ากระทบจีน และกลุ่มประเทศเกิดใหม่มากกว่า ในขณะที่ในสหรัฐฯ ที่มีการฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลลดลง ก็ได้รับผลกระทบในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานในกลุ่มท่องเที่ยวและการโรงแรมที่ก่อนหน้านี้ที่อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 ตำแหน่งต่อเดือน แต่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเหลือศูนย์ตำแหน่ง อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าโลกเรากำลังเดินหน้าไปยังเป้าหมายที่ถูกต้อง ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ต่อจากนี้ 
  • พื้นฐานภาคธุรกิจแข็งแกร่ง กำไรสูงกว่าคาด บริษัทมีความสามารถในการลงทุน จ้างงาน ในขณะที่มีความต้องการใช้จ่ายรออยู่ กำไรของบริษัทในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับในยุโรป และบางประเทศในเอเชีย แน่นอนว่าการที่บริษัทมีกำไรสูง จะช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานให้แข็งแกร่ง ค่าจ้างก็มีแนวโน้มที่ปรับสูงขึ้น นำไปสู่การบริโภคที่เพิ่มขึ้น และการที่บริษัทมีกำไรสูง ก็อาจจะนำไปสู่การลงทุนที่มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ภาคการบริโภคยังได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ที่อั้นไว้ (Pent-up demand) โดยการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงกว่าก่อนโควิด-19 และต่อจากนี้จะเปลี่ยนแรงขับเคลื่อนเป็นการใช้จ่ายด้านบริการแทน
  1. นโยบายการคลังขนานใหญ่ ยังสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสหรัฐฯ อาจจะใช้เวลานานกว่าจะได้รับการอนุมัติจากสภาเสร็จสิ้น แต่ด้วยมูลค่าแผนการลงทุนหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เราจะเห็นการกระตุ้นจากภาครัฐฯ ในลักษณะเดียวกันนี้ ในญี่ปุ่น ภายใต้นายกฯ คนใหม่ และยุโรป ภายใต้รัฐบาลเยอรมันชุดใหม่หลังการเลือกตั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคาดว่าเราจะเห็นการลงทุนของรัฐบาลทั่วโลกอย่างต่อเนื่องในอีกหลายไตรมาสต่อจากนี้
  2. ความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อผ่อนคลายลง สาเหตุที่เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มาจากปัจจัยชั่วคราว และเป็นผลมาจากฐานต่ำในช่วงวิกฤตปีที่แล้ว ซึ่งปัจจัยชั่วคราวเหล่านี้จะค่อยๆ หายไป นอกจากนี้ เงินเฟ้อก็ไม่เกิดขึ้นในตลาดสินเชื่อ เนื่องจากยอดปล่อยสินเชื่อจากธนาคาร รวมถึงการกู้ยืมเงินจากภาคครัวเรือนและบริษัทเอกชนไม่ได้เร่งตัวขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพระยะยาว หนุนจากตลาดแรงงาน ค่าจ้าง และค่าเช่าที่สูงขึ้นจะค่อยๆปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปตามวัฎจักรเศรษฐกิจในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ จึงจะไม่กดดันธนาคารกลางให้รีบขึ้นดอกเบี้ย
  3. การปรับลดการสนับสนุน จากนโยบายการเงินจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีความยืดหยุ่น หากตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรงลง หรือไม่เป็นไปตามคาด ธนาคารกลางยังมีความยืดหยุ่นในการชะลอแผนการลดการซื้อสินทรัพย์ได้ Lombard Odier คาดว่า FED จะเริ่มลดการซื้อสินทรัพย์ในปี 2565 และเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 โดยจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยนโยบายการเงินที่จะยังไม่เข้มงวดอย่างรวดเร็วก็จะยังหนุนเศรษฐกิจต่อไปได้
  4. จีนมีศักยภาพด้านการเงินและการคลังเพียงพอในการใช้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะตกต่ำอย่างรุนแรง แม้ว่าในช่วงหลังจะมีประเด็นผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande และการออกมาตรการควบคุมบริษัทเอกชนของทางการจีนที่กดดันตลาด แต่ Lombard Odier ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ (Hard landing) เนื่องจากทางการจีนยังมีเครื่องมืออีกมากที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจได้ ทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง เพื่อที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจจีนชะลอลงแบบ “Soft landing” แทน

ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ Managing Director – Private Banking Business Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกว่ากำลังเติบโตช้าลง เพื่อเข้าสู่การขยายตัวในระดับปกติ หลังจากฟื้นตัวอย่างรวดเร็วก่อนหน้านี้  ธนาคารแนะนำ 7 กลยุทธ์การลงทุน  ได้แก่

  1. คงมุมมองบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นที่มีราคาถูก (Value) และหุ้นกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) ย้อนกลับไปในสัมมนาออนไลน์ครั้งก่อน  ทาง Lombard Odier แนะนำให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักร และมีราคาถูก ตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวแรกๆ ซึ่งถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงดี และแนวโน้มบอนด์ยีลด์ขาขึ้น จะช่วยหนุนหุ้น Cyclical และ หุ้น Value ให้ไปได้ต่อ ซึ่งหนึ่งในภูมิภาคที่จะได้ประโยชน์จากหุ้นกลุ่มนี้ คือ ยุโรป
  2. หุ้นยุโรปจะให้ผลตอบแทนที่ดี และยั่งยืน ย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 ปีที่แล้ว หุ้นยุโรปฟื้นตัวล่าช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ เรายังเชื่อว่าหุ้นยุโรปจะยังปรับตัวขึ้นได้ต่อจากนี้ จาก 1) Sentiment หลังการเลือกตั้งในเยอรมนี ซึ่งจะสนับสนุนหุ้นยุโรปและค่าเงินยูโร แต่อาจมีการออกพันธบัตรเยอรมันเพิ่มซึ่งจะกดดันราคา ทั้งนี้ รัฐบาลผสมที่มีพรรค Greens อยู่จะช่วยผลักดันการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 2) แผนการปฏิรูปสีเขียวของยุโรป  (European Green Deal) ที่จะสร้างโอกาสการลงทุนมากมาย 
  3. ยังคงระมัดระวังในพันธบัตรรัฐบาล Lombard Odier คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะเริ่มลดสินทรัพย์ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ในเดือนธันวาคมนี้จนถึงมิถุนายน 2565 เราจึงมองว่าบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จะปรับขึ้นสู่ระดับ 2.25% ในเดือนมิถุนายน 2565 จากระดับอ้างอิงตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ 1.69% และระดับปัจจุบันที่ 1.5%
  4. การลงทุนในจีนจะให้ผลตอบแทนที่โดดเด่น จากประเด็นเรื่อง Evergrande หากเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดที่หนี้ที่ไม่มีหลักประกันสูญเสียเงินต้นทั้งหมดก็ตาม จากการประเมินของ Lombard Odier ภาคธนาคารจีนมีความแข็งแกร่งพอที่จะทนทานต่อการผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande ได้ กรณีฐาน เรามองว่ารัฐบาลจีนมีเครื่องมือเพียงพอที่จะช่วยพยุงบริษัทเพื่อไม่ให้ส่งกระทบในวงกว้าง และ Evergrande จะไม่ซ้ำรอยวิกฤติเเลห์แมน บราเธอร์ส โดยตราสารหนี้จีนทั้งพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชนบริษัทที่มีความแข็งแกร่งเป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่น่าสนใจเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว  โดยตราสารหนี้จีนให้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่มีอายุเท่ากันถึง 1.5% ถือว่าสูงมากในภาวะดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงค่าเงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯอีกด้วย นอกจากนี้ เราใช้โอกาสที่ตลาดถูกเทขายในการลงทุนในหุ้นจีนเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน
  5. มองสินทรัพย์นอกตลาดในการเพิ่มเติมผลตอบแทนให้สูงขึ้น แม้ว่าจะต้องแลกกับสภาพคล่องที่ต่ำ แต่ความท้าทายของสินทรัพย์ในตลาดจะให้ผลตอบแทนน้อยกว่าเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว สำหรับนักลงทุนที่สามารถลงทุนได้หลายปี  โดยเฉลี่ยระยะยาว หุ้นนอกตลาดสามารถให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถึง 2.7%
  6. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้ประโยชน์จากเงินทุนที่ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง และนโยบายภาครัฐฯ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2553 นอกจากนั้น เม็ดเงินลงทุนเร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หนุนจากแผนการลงทุนของปธน.ไบเดน มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านราคาของโครงสร้างพื้นฐานยังขึ้นมาน้อยกว่าตลาดหุ้น ทำให้เราคาดว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นได้ในระยะข้างหน้า
  7. การลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นผลดีในระยะยาว จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ฉบับล่าสุด เลขาธิการสหประชาชาติได้ย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นปัญหาสำคัญสำหรับมนุษยชาติ และการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ปลายปีนี้ จะมีการหารือประเด็นนี้เพิ่มเติม เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าบริษัทที่สามารถปรับตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จะให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต เพราะ ความเสี่ยงของการไม่ปรับตัว นอกจากจะทำให้โลกร้อนขึ้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องด้วย 

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในตอนท้ายว่า ท่ามกลางสภาวะตลาดปัจจุบันที่แม้แนวโน้มเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังการเปิดเมือง ธนาคารยังคงเชื่อมั่นว่าการลงทุนระยะยาว ผ่านการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนในระยะสั้น อีกทั้งยังคงปรับกลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พอร์ตการลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ  โดยเน้นการลงทุนหุ้นในธีม Policy Driven for Better World ที่จะได้รับอานิสงส์จากแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเทรนด์ธุรกิจรักษ์โลก รวมถึงธีม Laggard and Cyclical Upturns ที่เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเมืองและภูมิภาคที่ราคาหุ้นยังไม่ปรับขึ้นมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น เช่น ญี่ปุ่น