ชูผลงานกองทุนหุ้นนอกตลาดระดับโลกสร้างผลกำไรเฉลี่ยกว่า 40% ใน 2 ปี
ลุยเพิ่มขอบข่ายลงทุนผ่านสินทรัพย์ทางเลือก พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจไทย
KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) ชี้หุ้นนอกตลาดเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจเพื่อผลตอบแทนที่มั่นคงในหลากหลายภาวะเศรษฐกิจ เผยกองทุน K-GPE19A-UI และ K-GTPE20A-UI ซึ่งลงทุนในหุ้นนอกตลาดของบริษัทต่างประเทศ สร้างผลกำไรเฉลี่ย 40% ใน 2 ปี ชูความสำเร็จจากการเสนอขายกองทุน LH-THAIPE1UI กองทุนแรกที่ลงทุนในหุ้นนอกตลาดของบริษัทไทย ด้วยยอดระดมทุนกว่า 3.67 พันล้านบาท รุกนำเสนอนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์การลงทุนทางเลือกต่อเนื่อง พร้อมสนับสนุนความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทย
ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า “KBank Private Banking มุ่งมั่นที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขอบข่ายการลงทุนและโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอรวมทั้งสินทรัพย์ทางเลือก ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มีการแกว่งตัวสูง การหาผลตอบแทนทำได้ยากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ทำให้ หุ้นนอกตลาด หรือ ไพรเวทอิควิตี้ (Private Equity) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่สามารถลดความผันผวนของพอร์ตได้ เนื่องจากราคาจะไม่ผันผวนตามตลาดหลักทรัพย์ แต่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานจริงของธุรกิจ นอกจากนี้ยังช่วยให้นักลงทุนเข้าถึงธุรกิจซึ่งอยู่ในวัฏจักรที่หลากหลาย และได้รับประโยชน์จากการเติบโตของกิจการก่อนที่จะเข้าตลาดฯ ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีและมีเสถียรภาพกว่าได้ในระยะยาว
ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา KBank Private Banking ได้นำเสนอกองทุนไพรเวทอิควิตี้ ซึ่งลงทุนในหุ้นนอกตลาดของบริษัทต่างประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 2 กองทุน ได้แก่ กองทุน K-GPE19A-UI ซึ่งลงทุนในกิจการที่มั่นคง มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอและเติบโตอย่างรวดเร็ว และกองทุน K-GTPE20A-UI ซึ่งลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี และเป็นแหล่งสร้างการเติบโตที่สำคัญ โดยกองทุน K-GPE19A-UI สามารถสร้างผลกำไรกว่า 43% ในขณะที่ กองทุน K-GTPE20A-UI สร้างผลตอบแทนได้ 3.8% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ล่าสุด ในเดือนธันวาคม 2564 KBank Private Banking ได้ร่วมกับ บลจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เสนอขายกองทุนใหม่ LH-THAIPE1UI (LH Fund Thai Private Equity 1 Not for Retail Investors) ซึ่งลงทุนในธุรกิจไทยขนาดเล็กถึงขนาดกลาง 8-12 บริษัท ที่มีรายได้ระหว่าง 500 – 3,000 ล้านบาท และเป็นธุรกิจมีกำไรอยู่แล้วหรือเคยทำกำไรได้ดีแต่ประสบปัญหาระยะสั้น โดยอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการเสนอขายหุ้นนอกตลาดของบริษัทไทยในรูปแบบของกองทุนเปิด และได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูง โดยสามารถระดมทุนได้มูลค่ารวม 3,677 ล้านบาท หลังจากเสนอขายเพียง 14 วัน
“การนำเสนอขายกองทุนหุ้นนอกตลาดของบริษัทในประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของ KBank Private Banking ในการใช้เครื่องมือและความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนของเราในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจไทย และขับเคลื่อนความก้าวหน้าของเศรษฐกิจของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางในการสร้างการเติบโตของธุรกิจให้แก่ลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูง ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มเจ้าของกิจการ และตอกย้ำการเป็นผู้ให้บริการบริหารความมั่งคั่งครบวงจรอีกด้วย และทั้งนี้ในปี 2565 นี้ KBank Private Banking มีแผนที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) อื่นๆ เพิ่มเติม อย่างต่อเนื่อง นอกจาก กองทุนหุ้นนอกตลาด (Private Equity Fund) แล้ว จะมีการออกกองทุนหุ้นนอกตลาดที่มีสภาพคล่อง (Liquid Private Equity Fund) หนี้ภาคเอกชน (Private Debt) และ หุ้นอสังหาริมทรัพย์ไทยนอกตลาด (Real Estate Private Equity in Thailand) เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพื่อสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจให้กับพอร์ตการลงทุนของลูกค้า ตั้งเป้าหมายครองความเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์การลงทุนทางเลือก (Alternative Investment)” ดร.ตรีพล กล่าวปิดท้าย
# # #
หมายเหตุ ตำแหน่งผู้บริหารเขียนทับศัพท์ภาษาไทย:
ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ ไพรเวท แบงกิ้ง บิซิเนส เฮด ไพรเวท แบงกิ้ง กรุ๊ป ธนาคารกสิกรไทย
เกี่ยวกับ KBank Private Banking
KBank Private Banking ให้บริการการบริหารความมั่งคั่งอย่างครบวงจร ด้วยมาตรฐานระดับสากล แก่ลูกค้าธนาคารกสิกรไทย ที่มีเงินฝากและเงินลงทุนกับธนาคาร ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยให้บริการในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษา สร้างความเติบโต และส่งต่อความมั่งคั่ง ครอบคลุมทุกประเภททรัพย์สิน ทั้งทรัพย์สินทางการเงิน ธุรกิจครอบครัว อสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอื่นๆ ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรระดับโลก Lombard Odier ทำให้ KBank Private Banking สามารถตอบสนองทุกโอกาสการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งมอบความมั่งคั่งที่สมบูรณ์แบบและชีวิตที่ไร้กังวล แก่ลูกค้าคนสำคัญของธนาคาร