คปภ. โดยศูนย์ CIT จัดงาน “InsurTech Summit 2024” • ปักหมุดหมาย..! ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านประกันภัยของภูมิภาคอาเซียน

0
12

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดงาน InsurTech Summit 2024 ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมประกันภัยสู่เครือข่ายสากล : Shaping Insurance, Building Community” จัดโดยศูนย์ CIT สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์ประชุม C ASEAN อาคารซีดับเบิ้ลยู ชั้น 10 กรุงเทพฯ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีประกันภัย และเป็นเวทีในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยสู่อนาคต ด้วยการผสานองค์ความรู้และนวัตกรรมเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและยกระดับศักยภาพบุคลากรทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่ม Tech Startup ผ่านกิจกรรมสัมมนาวิชาการเชิงลึก กิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และการแสดงนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีประกันภัย ผ่าน Demo Showcase จาก บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำกว่า 10 บริษัท ที่ผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่นำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในงานประกันภัย ในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่เจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างบริษัทประกันภัยและบริษัทเทคโนโลยี เพื่อสร้างโอกาสในการร่วมมือและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันความร่วมมือและโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในระดับสากล นอกจากนี้ภายในงานยังมี Exhibition จากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำกว่า 30 บริษัท ที่มาร่วมจัดแสดงนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เห็นการใช้งานจริงของเทคโนโลยีในบริบทของอุตสาหกรรมประกันภัยอย่างใกล้ชิด

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ Regulation for the Insurance Ecosystem โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจประกันภัย ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจประกันภัยไม่ได้มีเพียงบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัยอีกต่อไป แต่มีผู้เล่นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจประกันภัยเพิ่มขึ้นมากมาย เช่น บริษัทเทคโนโลยี Insurtech Startups ที่กลายเป็นผู้เล่นรายใหม่ในธุรกิจประกันภัย นอกจากนี้ ยังได้เห็นความร่วมมือ หรือ Collaboration ของบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัยกับธุรกิจใหม่ ๆ เช่น โรงพยาบาล การขนส่ง เพื่อพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความหลากหลาย ตอบโจทย์และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น จึงคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตธุรกิจประกันภัยจะขยายวงกว้างมากขึ้น และเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันและการดำรงชีวิตของผู้คนและผู้ประกอบการต่าง ๆ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกประเด็นที่ต้องกล่าวถึง คือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่และมีการพูดถึง เรื่องเทคโนโลยีมาหลายปีแล้ว แต่มุมมอง ผลกระทบ และทิศทางของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปทุกปี เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันภัยได้เกือบทุกกระบวนการของ Supply Chain เริ่มตั้งแต่การเข้าถึงลูกค้าที่มีช่องทางการเสนอขายหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรงและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปัจจุบันมีเครื่องมือในการประมวลผลให้สามารถประเมินความเสี่ยงความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และกำหนดอัตราเบี้ยที่เหมาะสมได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เฉพาะเจาะจงหรือรายบุคคลได้มากขึ้น รวมถึงในอนาคตอาจได้เห็น Dynamic Pricing การปรับเบี้ยประกันภัยตามสภาพความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ด้วยหรือในส่วนของการดูแลลูกค้าและการให้บริการหลังการขายที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยให้บริการได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น เช่น ระบบ OCR (Optical Character Recognition) หรือ RPA (Robotic Process Automation) มาช่วยดำเนินการด้านเอกสารให้รวดเร็วขึ้น การพัฒนา Chatbot เพื่อเป็นอีกช่องทาง ในการติดต่อและให้บริการลูกค้า ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการฝังGen AI เพื่อให้ Chatbot ประมวลผลได้ซับซ้อนและดียิ่งขึ้น

อีกส่วนที่เห็นได้ชัด คือ การจัดการค่าสินไหมทดแทนที่เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยทั้ง Front Office และ Back Office เช่น การสำรวจข้อมูลความเสียหายด้วยโดรนและการวิเคราะห์ความเสียหายและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยการใช้ VDO หรือ รูปภาพ ซึ่งจะถูกนำไปประมวลผลต่อเพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงในอนาคตได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในธุรกิจประกันภัยที่กว้างขวางและหลากหลาย โดยบริษัทประกันภัยเกือบทุกแห่งได้ให้บริการลูกค้าผ่านทางเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ แล้วทั้งสิ้น หรือการซื้อประกันภัยออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญของธุรกิจไปแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจประกันภัยไทย พบว่า ในภาพรวมอุตสาหกรรมประกันภัยไทยมีความพร้อมทางดิจิทัลสูงถึงร้อยละ 78.5 และในอนาคตอันใกล้บริษัทประกันภัยไทยมากกว่าร้อยละ 90 จะมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างแพร่หลายและเห็นเป็นรูปธรรม “การจัดงานเสวนาในครั้งนี้จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมงานได้รับประโยชน์ ข้อคิด และมุมมองที่น่าสนใจ สามารถนำไปประยุกต์หรือต่อยอดการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญของสำนักงาน คปภ. ในการสร้าง Insurance Community ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านประกันภัย รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านประกันภัยของภูมิภาคอาเซียน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย