iSAB เสนอโครงการแก้ไขปัญหาส่งออกไทย ตั้งเป้าโตขึ้น 5% ในปี 2563

0
1885

ภาคการส่งออกเป็นภาคที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการส่งออกลดลงอย่างรุนแรง จากการเกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในตอนนี้ ทำให้สถานการณ์การส่งออกไทยในปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ปิดฉากไปด้วยบัญชีที่ติดลบราว ๆ 2.7% ซึ่งมีมูลค่ารวม 246,244.5 ล้านดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 ที่การส่งออกมีมูลค่า 252,957 ล้านบาท โตขึ้นราว 7% แต่ในเดือนมกราคม 2563 มูลค่าการส่งออกโตขึ้น โดยเริ่มต้นที่ 3.35% ถือเป็นข่าวดีให้กับการส่งออกไทยอยู่บ้าง

การจะฝ่าฟันให้วิกฤติการส่งออกผ่านพ้นไป ต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจทั้งในภาครัฐและเอกชน โดย นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงบวก (THE MASTER) ของสถาบันยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงบวก หรือ iSAB กล่าวว่า “หลักสูตร THE MASTER รุ่นที่ 5 ได้มีการนำเสนอโครงการแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการส่งออก ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มพอเพียง ภายใต้แนวคิด MOP ตามแบบฉบับของสหพัฒน์ คือ Mission, Objective และ Policy ประกอบด้วย การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เข้าใจง่ายเพียงเป้าหมายเดียว เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้ว ต้องกำหนด Objective ว่าสิ่งที่ต้องทำนั้นจะมีอะไรบ้าง หมายถึงต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ (Strategy) โดยแต่ละกลยุทธ์จะต้องส่งผลให้บรรลุเป้าหมายของ Mission และแต่ละกลยุทธ์จะต้องประกอบด้วย List of Action หลายข้อ ซึ่งทั้ง Objective Strategy และ List of Action ต้องส่งผลไปสู่ Mission หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้”

โจทย์ของการแก้ไขปัญหาด้านการส่งออกที่กลุ่มพอเพียงจาก THE MASTER รุ่นที่ 5 ได้นำเสนอนั้น เป็นแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมและแก้ไขปัญหาให้การส่งออกไทยเติบโตขึ้น 5% ภายในปี 2563 ด้วยมูลค่า 260,000 ล้านบาท จากในปี 2562 ซึ่งได้วาง Objective 3 ประการไว้ดังนี้

  1. พัฒนา NDTP เพื่อเชื่อมโยงภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง คาดการณ์มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ 2%

1.1 การวางกลยุทธ์ในการพัฒนา National Digital Trade Platform (NDTP) เป็นการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ภาคเอกชนผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านการส่งออกทุกคนอยู่ในดิจิทัลแพลตฟอร์มเดียวกัน โดยข้อมูลสำคัญสามารถส่งไปยังเป้าหมายได้แบบเรียลไทม์ผ่านดิจิทัลเทคโนโลยี

1.2 การรื้อกฏระเบียบและกฏหมายการค้าระหว่างประเทศและในประเทศ โดยมีการศึกษากฏหมาย และกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก รวมถึงดำเนินการร่วมกับภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไข เพิ่มเติม หรือยกเลิกกฏหมาย กฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง

1.3 เชื่อมต่อกับ National Single Window ของภาครัฐ เพื่อเชื่อมต่อถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับด้านการส่งออก 37 แห่งเข้าไว้ด้วยกัน โดยตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และดำเนินการเชื่อมต่อเมื่อ NDTP แล้วเสร็จ

1.4 การเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยการเจรจากับแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่งในอนาคตจะทำให้เกิด ASEAN Single Window ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและลดขั้นตอนการทำงาน ทำให้รวดเร็วขึ้น โดยแพลตฟอร์มนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งบริษัทใหญ่และ SME ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้ 2% หรือราว ๆ 5,000 ล้านบาท

  1. การสร้าง Value Added ให้กับสินค้าและบริการของประเทศไทย คาดการณ์มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ 1%

2.1 การลดต้นทุนเพื่อโอกาสในการแข่งขัน โดยการใช้เทคโนโลยีทันสมัย เช่น เทคโนโลยีในการจัดงานต่าง ๆ, ระบบที่ช่วยวางแผนและจัดการฐานข้อมูลองค์กร, เครื่องจักรต่าง ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสินค้าที่ทันสมัย เป็นต้น รวมถึงการใช้พลังงาน โดยใช้ smart energy และการใช้พลังงานทดแทน สิ่ง

เหล่านี้จะเป็นหลักในการช่วยลดต้นทุนตรงนี้ เพื่อที่เราจะสร้างโอกาสทางการแข่งขันได้

2.2 การเพิ่มผลิตภาพ โดยการใช้ AI เช่น การใช้โรบอทในการผลิตแทนแรงงานคน ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพในการผลิต โดยที่ไม่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลกำลังคน นอกจากนี้ยังควรมีแรงงานคุณภาพ เพื่อช่วยผลักดันให้สินค้าและบริการได้มาตรฐานสู่สากล

2.3 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผ่านการออกแบบและการวิจัยและพัฒนา การออกแบบเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าให้สินค้าและบริการได้ ซึ่งในส่วนของการวิจัยและพัฒนา ขอนำเสนอให้ภาคเอกชนได้นำความรู้ต่าง ๆ จากภาครัฐมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์

2.4 การสร้างแบรนด์สินค้าและบริการของไทย จะผ่านการสร้าง Story-Telling โดยพูดให้เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาไทยหรือเอกลักษณ์ความเป็นไทยต่าง ๆ เพื่อให้สินค้าและบริการของไทยมีความน่าสนใจในระดับโลกมากขึ้น และใช้คอนเซ็ปต์ คุณภาพไทย มาตรฐานโลก ซึ่งหน่วยงานรัฐได้มีการเริ่มใช้คอนเซ็ปต์นี้แล้ว โดยใช้ T Mark ตราสัญลักษณ์ที่มอบให้กับสินค้าที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน สามารถออกไปสู่ระดับสากลได้

  1. การหาตลาดใหม่ คาดการณ์มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ 2%
  2. 3.1 การเร่งเจรจาข้อตกลงการค้า ในกลุ่ม RCEP กลุ่ม EU และ ประเทศอังกฤษ สำหรับกลุ่ม RCEP หากอินเดียเข้ามาเป็นสมาชิกในข้อตกลงทางการค้า ก็จะช่วยทำให้การส่งออกของไทยโตขึ้นได้ เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่ ส่วนกลุ่มประเทศ EU ที่ได้ทำการค้าเสรีกับประเทศเวียดนาม หากประเทศไทยโน้มน้าวให้กลุ่มนี้มาทำการค้าเสรีได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเวียดนามนั้นเป็นคู่แข่งสำคัญของการส่งออกไทย และสุดท้ายคือการเจรจาการค้ากับประเทศอังกฤษ เนื่องด้วยประเทศอังกฤษกำลังจะออกจากการเป็นสหภาพยุโรปอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม 2564 ช่วงนี้ก็อาจจะเป็นนิมิตรหมายอันนี้ที่ประเทศไทยจะขอเข้าไปเจรจาการค้าเสรีกับประเทศอังกฤษ

3.2 การเร่งเปิดตลาดไปยังกลุ่มที่มีศักยภาพ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศในแถบรัสเซีย และกลุ่มแอฟริกาใต้ เพื่อให้ได้มูลค่าการส่งออกที่โตขึ้น

3.3 การค้าชายแดน โดยเน้นในประเทศกลุ่ม CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า และมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่อยากจะให้พิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องการลดหย่อนภาษี และในเรื่องของระเบียบข้อบังคับในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

3.4 การพัฒนาสินค้าที่นักท่องเที่ยวซื้อกลับประเทศ โดยใช้ 2 วิธี คือ การนำ Big Data มาช่วยกำหนดยุทธศาสตร์ ซึ่งหากมีข้อมูลต่าง ๆ ของลูกค้า ก็จะสามารถนำข้อมูลไปพัฒนาสินค้าเพื่อให้ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มได้ โดยสามารถหาข้อมูลได้จากการทำ Social Listening ก็คือการเข้าไปดูความนิยมต่าง ๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือจะมีการขอแชร์ข้อมูลจากทราเวลเอเจนซี่ต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และสุดท้ายคือการขอความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เช่น กระทรวงไอซีที กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการแชร์ข้อมูลร่วมกับภาคเอกชน นอกจากนี้ยังมีในส่วนของการพัฒนาของฝากที่ต้องซื้อ อาจจะต้องมีความร่วมมือกันมากขึ้นในการโปรโมทสินค้าที่ใครมาแล้วจะต้องซื้อกลับไปแน่นอน

หลังจากที่กลุ่มพอเพียงได้เสนอโครงการดังกล่าวนี้แล้ว คณะกรรมการสถาบันได้นำเสนอโครงการนี้ต่อรัฐบาล โดยสถาบันมีความเห็นว่าโครงการดังกล่าวอาจเป็นมุมมองหนึ่งจากภาคธุรกิจ และอาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติได้ โดยครั้งนี้ iSAB ได้รับเกียรติจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้ารับฟังการนำเสนอโครงการ พร้อมทั้งให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับด้านการส่งออกไว้ว่า “แนวคิดของผู้ใฝ่รู้ที่ได้นำเสนอมานั้น มีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งการทำ NDTP จะเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมระหว่างเอกชนกับเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ แปลว่าต่อจากนี้เมื่อส่งออกสินค้าหรือนำเข้า เราจะใช้ระบบดิจิทัลและอิเล็กโทรนิกส์ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้กระบวนการต่าง ๆ ง่ายขึ้น ซึ่ง ณ วันนี้แพลตฟอร์มของ ASEAN Single Window ของ 10 ประเทศ เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว”

“ในเรื่องของการพัฒนามูลค่าสินค้าและบริการ ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มเป้าหมายหลักเป็น SME เช่น กลุ่ม OTOP และกลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่น นโยบายต่อไปนี้เราต้องมีที่ยืนให้กลุ่มเหล่านี้ เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพ โดยจะเน้นกลุ่มตลาด CLMV นอกจากนี้นโยบายเรื่องการสนับสนุน SME ให้มีศักยภาพสู่สากล กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดอบรม SME ที่มีศักยภาพ ได้มีความรู้เรื่องการส่งออกโดยเฉพาะ เป็นการสร้างนักรบท้องถิ่นที่จะสามารถไปเติบโตในระดับสากลได้” นายจุรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย