ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิดที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลก จนเกิดกระแสโซเชียลดิสแทนส์ซิ่ง (Social Distancing) หรือการเพิ่มระยะห่างทางสังคม ไม่ว่าเป็นการรับประทานอาหารในร้าน นั่งห่างกันอย่างน้อย 1.5 เมตร ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ข้างนอก สั่งอาหารออนไลน์ และทำงานผ่านระบบออนไลน์ ทำให้เราทุกคนมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เว้นแม้แต่วงการการศึกษา ที่ต้องปรับเปลี่ยนมาเรียนด้วยระบบออนไลน์กันมากขึ้น แต่กระนั้นการเรียนผ่านหน้าจอก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพการสอนลดลงแต่อย่างใด เพราะหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (International Program in Design and Architecture – INDA) ได้เริ่มคิดหาทางออกด้วยการนำระบบวีอาร์ (VR – Virtual Reality) เข้ามาใช้ในการเรียนการสอนนิสิต นักศึกษา รวมทั้งใช้ในการจัดงานแสดงนิทรรศการออนไลน์ผ่านระบบวีอาร์ครั้งแรกในงาน อินดา พาเหรด 2020 นิทรรศการการจัดแสดงผลงานประจำปีของนิสิต ชั้นปีที่ 1 – 4 ของหลักสูตรอินดา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาอีกด้วย
ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าที่มาที่ไปของแนวคิดการนำระบบวีอาร์ มาใช้ในการเรียนการสอนและการจัดงานในครั้งนี้ว่า “เริ่มต้นมาจากปัญหาโควิด – 19 ทำให้ทางมหาวิทยาลัยต้องงดการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน เหล่าคณาจารย์จึงต้องประชุมหาทางออก เพื่อให้การเรียนการสอนสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยเริ่มจากการสอนผ่านโปรแกรมวิดีโอคอล แต่ลักษณะการเรียนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จะต้องมีการออกแบบ และทำออกมาเป็นแบบจำลองให้อาจารย์ได้เห็นเพื่อตรวจผลงาน อาจารย์ในคณะเสนอความเห็นว่าเราควรจะใช้ระบบวีอาร์ เข้ามาใช้ในการส่งงานผ่านระบบออนไลน์ โดยให้นิสิตออกแบบงานในคอมพิวเตอร์และเอาเข้าระบบให้อาจารย์ตรวจสอบผลงานแบบเสมือนจริง ซึ่งช่วยทำให้อาจารย์ได้ตรวจงานนิสิตได้สะดวกมากขึ้น
จนกระทั่งมาถึงช่วงที่เราจะต้องจัดงาน อินดา พาเหรด ซึ่งแต่เดิมเราจัดขึ้นที่สถานีมักกะสัน แต่ติดพรก.ฉุกเฉิน ทำให้เราไม่สามารถจัดงานในสถานที่เดิมได้ เราจึงเอาเทคโนโลยีวีอาร์มาจัดงานในรูปแบบนิทรรศการดิจิทัล กลายเป็นครั้งแรกที่เราจัดงาน อินดา พาเหรด ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งข้อดีของการจัดงานผ่านระบบออนไลน์คือ ปลอดภัยจากโรคติดต่อ เราสามารถติดต่ออาจารย์ชาวต่างชาติให้มาตรวจผลงานของนักศึกษา โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางข้ามประเทศ นิสิตทั้ง 309 คนจากทุกชั้นปีจะมีพื้นที่แสดงผลงานของตัวเองถึง 30 x 30 ตารางเมตร มากกว่าพื้นที่ที่เคยจัดแสดงผลงานที่สถานีมักกะสัน ที่สำคัญคือเราสามารถเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญสถาปัตยกรรมระดับโลก มาบรรยายผ่านช่อง Twitch และ ZooM ให้นิสิตและประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมรับฟังได้อีกด้วย”
แพม จิดาภา ศรีมาจันทร์ นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงประสบการณ์ในการเรียนและการส่งงานผ่านระบบออนไลน์ของ INDA ว่า “หลังจากปิดโควิดเราต้องปรับตัวเข้าเรียนในระบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม ZOOM เริ่มเรียนรู้การใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ส่งงานอาจารย์ ถามถึงเรื่องการเรียนการสอนในเรื่องของความรู้คือเราได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ขาดไปก็คือปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ในห้องเรียน เราไม่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับเพื่อนในห้องเรียนได้ แต่ในส่วนอื่นๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาในการเรียนการสอนเท่าไหร่แค่ รู้สึกว่าการเรียนในห้องในสตูดิโอสนุกมากกว่าการเรียนที่บ้าน”
จีจี้ ปัณชญา สอนคม นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โปรเจคของจีจี้ ในงานอินดา พาเหรด คือสัมภาษณ์บุคคลถึงสิ่งที่ทำให้เขาคิดถึงบ้านที่เคยอยู่สมัยเด็ก ว่าพวกเขาจำอะไรได้บ้าง แล้วเรามาเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะเราเชื่อว่าสิ่งของบางอย่าง สีบางสี กลิ่น วัสดุที่ใช้ในการตกแต่งบ้าน มีผลต่อความทรงจำของคนเรา ให้นึกถึงสมัยเด็ก ๆ เราสามารถประยุกต์ใช้ในการออกแบบบ้านสำหรับลูกค้าที่มีความต้องการทำบ้านใหม่ แต่อยากให้มีบางสิ่งทำให้คิดถึงวันวานในสมัยเด็ก ซึ่งผลจากโปรโจคนี้เราพบว่าห้องที่ทำให้คนรู้สึกถึงความหลังได้มากที่สุดคือห้องครัว โดยมีองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ไม้ และสีในห้องครัวของบ้านเก่า ก็จะให้ความรู้สึกเดิมสมัยยังเป็นเด็ก ในเรื่องการเรียนออนไลน์ จีจี้ มองว่า เป็นช่วงที่ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองเรื่องการเรียนการสอนทั้งหมด แต่สิ่งที่เราเรียนรู้ได้ดีที่สุดในช่วงนี้ก็คือโอกาสในการมองธุรกิจแต่ละสาขา ว่าพวกเขามีการปรับตัวอย่างไรบ้าง เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงวิฤตเหล่านี้ไปได้ซึ่งจะมีประโยชน์กับเราในอนาคต”
วิช วิชญ์ วิชยสถิต นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “สำหรับโปรเจคของผมในงานอินดา พาเหรด ผมดูเรื่องเกี่ยวกับทางเชื่อมที่มีผลต่อความรู้สึกของผู้คน ทางเชื่อมที่ว่านี้เป็นได้ตั้งแต่ทางเชื่อมอาคารไปจนถึงสะพานลอย ซึ่งโปรเจคของผมลงลึกเรื่องการออกแบบสะพานลอยอย่างไรให้คนรู้สึกดีรู้สึกปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบทางเดิน พื้น แสงสว่าง และป้ายโฆษณาต่าง ๆ ซึ่งการทำโปรเจคจากที่บ้านต้องยอมรับว่ายากอยู่เหมือนกัน แม้จะทำให้เรารู้สึกว่าเรียนได้เหมือนกันแค่ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ แต่ในงานสถาปัตย์จำเป็นต้องออกไปดูพื้นที่หาแรงบันดาลใจในการออกแบบ ระบบออนไลน์อาจจะช่วยในเรื่องการทำงานได้สะดวกขึ้น แต่ในแง่ของการหาแรงบันดาลใจแล้ว ผมมองว่าการที่เราได้ออกนอกบ้านมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเราอาจจะได้สิ่งที่หาไม่ได้ในอินเทอร์เนต”
ดร.สุรพงษ์ เล่าเสริมต่อว่า “การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ครูอาจารย์ที่ต้องปรับเปลี่ยนในการเตรียมสไลด์การสอนเท่านั้น นิสิตเองก็ต้องเปลี่ยนจากการทำแบบจำลองส่งอาจารย์ มาให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลด้วยเช่นกันและทั้งหมดเปลี่ยนแปลงภายในเวลาไม่ถึงครึ่งเดือนเพื่อที่พวกเราจะเดินหน้าต่อไปได้ หลังจากทดลองใช้งานมาได้ระยะหนึ่งเสียงตอบรับจากอาจารย์เมื่อเทียบระหว่างข้อดีข้อเสียแล้ว เราถือว่ามีข้อดีมากกว่า ที่นำระบบวีอาร์นี้มาใช้ ยกตัวอย่างแรกในเรื่องของการจัดงาน INDA ที่ผ่านมาเราสามารถสร้างพื้นที่เพื่อจัดแสดงผลงานให้กับนิสิตทุกคนได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นผลงานภาพเขียน แบบจำลอง หรือคลิปวิดีโอ ทุกอย่างสามารถทำได้ในพื้นที่จัดแสดงของตัวเอง หลายผลงานก็สามารถทำออกมาในสัดส่วนจริงทำให้อาจารย์และทุกคนเห็นรายละเอียดของผลงานได้ชัดเจนมากขึ้น
ในอนาคตเราคิดว่าจะใช้ระบบวีอาร์ในการสอนต่อไป เพื่อช่วยให้อาจารย์สามารถตรวจผลงานนักศึกษา ได้เสมือนกับเป็นผลงานจริงสามารถพลิกหมุนดูผลงานในมุมต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดและให้คำแนะนำแก่นักศึกษากลับไปแก้ไข ก่อนที่จะทำออกมาเป็นโมเดลจริงส่งอาจารย์ ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการสิ้นเปลืองวัสดุ ในการทำโมเดลได้ ในขณะที่การสอนก็มีประโยชน์ในการบรรยายออนไลน์ เราสามารถเชิญวิทยากรต่างประเทศ มาบรรยายนิสิตได้มากขึ้นโดยอาจารย์ไม่ต้องเดินทางมาด้วยตัวเอง เพิ่มทางเลือกในการหาอาจารย์และวิทยากรที่มีชื่อเสียงในวงการระดับโลกได้มากขึ้น
สุดท้ายส่วนตัวผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงมาทำงานในรูปแบบดิจิทัลเต็มตัว สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงกับนิสิตได้หลายอย่าง ระบบวีอาร์ช่วยให้พวกเขาสามารถมองเห็นผลงานของตัวเองออกมาเป็นรูปร่างและปรับปรุงแก้ไขได้ตามต้องการในทันที จากปรกติแล้วเวลาเราออกแบบเราใช้ดินสอร่างแต่ละเส้นออกมาเราในมุมมองของเรา แต่พอทำงานในคอมพิวเตอร์จะไม่ใช่เรื่องของการร่างเส้น แต่เป็นการร่างแบบกำหนดจุดต่อจุด เราอาจจะได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ในผลงาน ที่ความคิดของมนุษย์ไปไม่ถึง แต่ในขณะเดียวกันงานที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์บางอย่างก็ทำไม่ได้อย่างมนุษย์ มีข้อดีแตกต่างกัน การที่เรานำระบบวีอาร์เข้ามา อาจจะช่วยให้เราจะเข้าสู่ยุคแห่งการผสมผสานระหว่างงานสถาปัตย์ที่เป็นส่วนผสมลงตัวระหว่างศิลปะและดิจิทัลได้ในที่สุด”